เนื้อหาวันที่ : 2017-01-23 17:49:33 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1864 views

 

 

 

 

 

 

 

 

เชอร์มีน ก็อตเฟรดเซ็น

ผู้จัดการทั่วไป

บริษัท ยูนิเวอร์แซล โรบอทส์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

 

 

ประเทศไทยพึ่งพาธุรกิจในภาคการผลิตเพื่อจัดหาผลิตภัณฑ์สำหรับการบริโภคภายในประเทศและเพื่อการส่งออกมาอย่างยาวนาน ผลการวิเคราะห์ระบุว่ากลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ระดับแถวหน้าของประเทศไทยนั้น ล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์และอุตสาหกรรมการผลิตวัตถุดิบเช่น ยาง[1] เป็นต้น

 

     หากแต่ในช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงต้นปี 2559 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีของไทย มีตัวเลขที่ลดลงอันเนื่องมาจากปริมาณการส่งออกที่ลดลง ซึ่งเป็นผลจากความผันผวนของตลาดการเงินโลก ประกอบกับตลาดอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียก็ชะลอการเติบโตซึ่งส่งผลต่ออุปสงค์และอุปทาน นอกจากนี้การชะลอตัวดังกล่าวยังส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจการผลิตทั่วประเทศ[2]

 

          หากมองย้อนกลับไปในยุคแรก ๆ ของการปฏิวัติอุตสาหกรรมจนกระทั่งถึงช่วงวิกฤตการเงินในศตวรรษที่ 21 จะเห็นว่า ธุรกิจการผลิตทั่วทุกอุตสาหกรรมและทุกตลาดล้วนแต่ต้องเผชิญกับภาวะขาขึ้น-ขาลงของเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในรูปแบบใด สิ่งหนึ่งที่ผู้ผลิตยังต้องทำอยู่เสมอคือการลงทุนในอุปกรณ์เครื่องจักรและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและช่วยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาด ผู้ผลิตในประเทศไทยก็เช่นเดียวกันที่แม้ว่าจะต้องเผชิญกับการผันผวนทางเศรษฐกิจในปัจจุบันมากเพียงใด ก็จำเป็นต้องลงทุนกับเทคโนโลยีและอุปกรณ์เครื่องจักรใหม่ ๆ  

 

ระบบอัตโนมัตินำสู่ความสำเร็จ

 

          วงจรเศรษฐกิจที่ขึ้น ๆ ลง ๆ กลายเป็นความกดดันที่ทำให้ผู้ผลิตต้องปรับตัวรับเอานวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาใช้และสร้างความแตกต่างให้ตัวเอง ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามลดต้นทุนการผลิตและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ซึ่งรัฐบาลไทยได้เล็งเห็นสถานการณ์ที่ผู้ผลิตกำลังเผชิญอยู่และเข้ามามีบทบาทช่วยเหลือในหลายประการ โดยในปี 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ประกาศมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่าย ด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจาก 2 เท่าเป็น 3 เท่า (200% เป็น 300%) ซึ่งครอบคลุมรวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการลงทุนกับเทคโนโลยีที่ใช้ระบบอัตโนมัติและอุปกรณ์เครื่องจักรกล[3] อีกด้วย 

 

          ยิ่งกว่านั้น ในช่วงต้นปี 2559 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ออกมาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของการลงทุนในอนาคตในสามอุตสาหกรรมซึ่งอุตสาหกรรมที่ใช้ระบบการผลิตแบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ได้รับการส่งเสริม[4]

 

          เป็นที่แน่นอนว่ามาตรการสนับสนุนดังกล่าวจะสร้างโอกาสมหาศาลให้กับอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศไทยในการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตลงได้ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย อาทิ การใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติต่าง ๆ

 

 

          ปัจจุบัน หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่เข้ามาสู่ภาคการผลิตของไทยมีรูปทรงและขนาดที่แตกต่างกันไป พื้นที่ในโรงงานขนาดกลางถึงเล็กหรือเงินลงทุนไม่ใช่ประเด็นที่เป็นอุปสรรคอีกต่อไป ตัวอย่างเช่น แขนกลหุ่นยนต์ขนาดกะทัดรัดที่ใช้งานร่วมกับมนุษย์ได้ ซึ่งมีราคาที่ไม่สูงจนเกินไปและยังเคลื่อนย้ายไปใช้งานตามจุดต่าง ๆ ทั่วโรงงานได้อย่างสะดวกและง่ายดาย อีกทั้งยังปรับใช้งานกับกระบวนการผลิตของโรงงานประเภทต่าง ๆ ได้อีกด้วย ตั้งแต่การใช้แขนกลเพื่อติดชิ้นส่วนอะไหล่ขนาดเล็กเข้ากับอุปกรณ์แกดเจ็ตอิเล็กทรอนิกส์ไปจนถึงการหยิบและยกชิ้นส่วนอะไหล่ที่มีขนาดใหญ่ในกระบวนการประกอบรถยนต์ โดยแม้ว่าจะได้รับการพัฒนาให้มีความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีเพียงใด แต่แขนกลก็ถูกออกแบบมาให้มนุษย์ใช้งานและควบคุมได้อย่างง่ายดาย 

 

ห่วงโซ่คุณค่าที่กำลังเพิ่มขึ้น

 

          ผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยต่างก็ได้ประจักษ์ถึงประสิทธิภาพการทำงานของหุ่นยนต์และการทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้เปิดเผยตัวเลขการนำเข้าหุ่นยนต์และระบบการทำงานโดยอัตโนมัติว่ามีมูลค่าถึงกว่า 47.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณกว่า 1,700 ล้านบาท และยังคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยอุตสาหกรรมที่มีการนำเข้าหุ่นยนต์มากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร [5]

 

          การพัฒนาที่ก้าวไกลยิ่งขึ้นของเทคโนโลยีการผลิตด้วยระบบอัตโนมัติ อาทิ แขนกลที่สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ได้กลายเป็นทางเลือกที่ลงตัวของผู้ผลิตในประเทศไทยที่จะพัฒนาธุรกิจให้เติบโตต่อไปได้ เทคโนโลยีดังกล่าวช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันท่ามกลางสภาวการณ์ทางธุรกิจและสภาพแวดล้อมทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในปัจจุบัน และยังช่วยให้ผู้ผลิตสามารถเพิ่มประสิทธิผลและประสิทธิภาพการผลิตตลอดจนบรรลุเป้าหมายในการลดต้นทุนอีกด้วย ธุรกิจการผลิตของประเทศไทยยังคงต้องติดอาวุธใหม่ ๆ ให้กับตัวเองอย่างต่อเนื่องเพื่อที่ประเทศไทยจะยังคงเป็นหนึ่งในศูนย์กลางด้านการผลิตที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

 

 

 

[1] Oxford Business Group, Shifting Thailand's economy from manufacturing towards knowledge-based industries

[2] Deloitte Consulting, Thailand: Getting back on its feet, April 2016

[3] Thaiembassy.org, Science, Technology and Innovation Policies in Thailand: Achievements and Challenges, May 2015

[4] The Board of Investment (Thailand), BOI promotes investment in three clusters of the future: Food

Innovation, Aviation, Automation and Robotics, March 2016

[5] The Board of Investment (Thailand), Robotics Manufacturing Takes Off In Thailand, July 2016

 

เกี่ยวกับยูนิเวอร์แซล โรบอทส์
          ยูนิเวอร์แซล โรบอทส์ ก่อตั้งขึ้นจากการค้นคว้าและวิจัยยาวนานหลายปี ณ ศูนย์การออกแบบหุ่นยนต์เมืองโอเดนเซ ประเทศเดนมาร์ก บริษัทฯ ก่อตั้งในปี 2548 โดยนายเอสเบ้น ออสเตอการ์ด ซึ่งต้องการพัฒนาหุ่นยนต์ให้ใช้งานได้ทุกระดับ โดยมีขนาดเล็ก ใช้งานง่าย ราคาสมเหตุสมผล เป็นหุ่นยนต์เพื่องานอุตสาหกรรมที่มีความยืดหยุ่น มีความปลอดภัยและทำงานเข้ากับกระบวนการผลิตของโรงงาน
          ผลิตภัณฑ์ของยูนิเวอร์แซล โรบอทส์ ประกอบด้วย แขนกลหุ่นยนต์ทำงานร่วมกับมนุษย์รุ่น UR3, UR5 และ UR10 ซึ่ง ตั้งชื่อตามกำลังการยกวัตถุซึ่งมีหน่วยเป็นกิโล นับตั้งแต่หุ่นยนต์แขนกล UR เปิดตัวครั้งแรกในปี 2551 บริษัทฯ เติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยยอดจำหน่ายหุ่นยนต์กว่า 50 ประเทศ ทั่วโลก โดยระยะเวลาที่หุ่นยนต์ช่วยให้ลูกค้าคืนทุนเฉลี่ย (ภายใน 12 เดือน) นับว่ารวดเร็วที่สุดในอุตสาหกรรม บริษัทฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท เทราดีน จำกัด ในบอสตัน มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ใน โอเดนเซและมีบริษัทในเครือและสำนักงานสาขาในสหรัฐอเมริกา สเปน เยอรมนี สิงคโปร์ เชค รีพับลิก อินเดีย และจีน ยูนิเวอร์แซล โรบอทส์ มีพนักงานกว่า 300 คน ทั่วโลก 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด