เนื้อหาวันที่ : 2016-12-06 13:03:51 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2140 views

 

          นับตั้งแต่วันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติจวบจนสิ้นรัชกาล เป็นระยะเวลา 70 ปีแล้วที่พระองค์ทรงปกครองราชอาณาจักรไทยให้มีความร่มเย็นเป็นสุข ทรงนำประเทศชาติผ่านพ้นวิกฤตการณ์ปัญหาต่าง ๆ ด้วยพระอัจฉริยภาพ ยังผลให้ประเทศไทยมีความเจริญรุ่งเรืองมั่นคงเป็นปึกแผ่นตลอดมา

          พระราชกรณียกิจนานัปการล้วนอำนวยคุณประโยชน์ไม่เพียงแต่ประชาชนชาวไทยยังถึงมวลมนุษยชาติ จึงปรากฏพระเกียรติคุณแผ่ไพศาลไปยังนานาประเทศ เป็นที่ประจักษ์ในพระปรีชาสามารถ ตลอด ๗๐ ปีที่ผ่านมา พระองค์ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยหลักทศพิธราชธรรม ทรงยึดมั่นในพระปฐมบรมราชโองการและพระราชสัตยาธิษฐาน เพื่อประโยชน์สุขของปวงอาณาประชาราษฎร์และชาติบ้านเมืองเป็นอเนกประการ

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงทรงเป็นที่เคารพรักยิ่งของประชาชนชาวไทย พระองค์ทรงตรากตรำบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อสร้างความสมบูรณ์พูนสุขและความมั่นคงให้เกิดขึ้นในทุกท้องที่ทั่วประเทศ สมดังพระปฐมบรมราชโองการที่พระราชทานไว้ว่า

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม”

 

     จากการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจและแนวพระราชดำริในครั้งนี้ ทำให้ตระหนักว่าพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมการดำเนินชีวิตในทุก ๆ ด้านของชาวไทย และสิ่งสำคัญที่คนทั่วไปมักไม่นึกถึง คือ พระราชกรณียกิจเกือบทุกด้านเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยอาจกล่าวได้ว่าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเกือบทุกโครงการที่พระราชทานแก่ประเทศนั้นล้วนเกิดขึ้นตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น วิทยาศาสตร์หมายถึงความรู้และความเข้าใจธรรมชาติที่ได้โดยการสังเกต ค้นคว้า วิเคราะห์และสังเคราะห์ แล้วจัดเป็นระเบียบ ดังนั้น วิทยาศาสตร์จึงไม่ได้หมายความในเชิงเนื้อหาสาระทางวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายความรวมถึงกระบวนการที่ส่งผลให้เกิดเนื้อหาเหล่านั้น คือมีพัฒนาการตั้งแต่การสังเกตการตั้งสมมติฐาน การทดลองพิสูจน์ เพื่อหาคำยืนยันและทำความเข้าใจ ไปจนถึงการสั่งสมและพัฒนาต่อยอดความรู้ให้กว้างไกลออกไป ซึ่งหลักการทางวิทยาศาสตร์นี้ สะท้อนอยู่อย่างชัดเจนในพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากการที่พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในทุกภูมิภาคของประเทศ ทรงรับทราบปัญหาความทุกข์ยาก และทรงวิริยะอุตสาหะศึกษา ทดลองทำความเข้าใจและหาแนวทางแก้ปัญหา ทั้งในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และในโครงการตามพระราชดำริอื่น ๆ ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการ โดยโครงการเหล่านี้ คือการวิจัยและพัฒนาบนพื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งทรงกลั่นกรองความรู้ต่าง ๆ เหล่านั้นออกมาเป็นแนวทางที่เรียบง่ายและเป็นธรรมชาติ ชาวบ้านสามารถเรียนรู้และนำมาใช้ตามสภาพและฐานะของตนได้ง่าย อันเป็นพระอัจฉริยภาพอันสูงส่งอย่างแท้จริง

 

          พระมหากรุณาธิคุณในองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระราชทานให้แก่ปวงชนชาวไทยมีมากล้นสุดที่จะพรรณนา และมิมีสิ่งใดที่อาจทดแทนได้ โอกาสอันเป็นมหามงคลยิ่งนี้ จึงนำความปลาบปลื้มปีติยินดีมาสู่พสกนิกรอย่างล้นพ้น ด้วยรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และขอพร้อมใจกันถวายพระพร ถวายความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐและพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย

 

พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย

 

 

          ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงศึกษาค้นคว้าวิจัยและทรงนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้พ้นทุกข์ยาก มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสามารถพึ่งตนเองได้ ตลอดจนพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของพระองค์ เป็นที่ประจักษ์แก่สายตา ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมาโดยตลอด ดังจะเห็นจากพระราชกรณียกิจนานัปการที่ทรงพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎรของพระองค์ผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมายหลายโครงการ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๓ เห็นชอบถวายการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในฐานะที่ทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๓ พร้อมทั้งกำหนดให้วันที่ ๑๙ ตุลาคมของทุกปีเป็น “วันเทคโนโลยีของไทย” เนื่องจากวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๑๕ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงอำนวยการสาธิตฝนเทียม สูตรใหม่ครั้งแรกของโลกด้วยพระองค์เอง ณ เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และทรงพระปรีชาสามารถทำให้ฝนตกลงตรงเป้าหมายท่ามกลางสายตาของคณะผู้แทนของรัฐบาลจากต่างประเทศเป็นครั้งแรก

 

          การทำฝนเทียมดังกล่าวมีกำเนิดจากเมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกร เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๘ ได้ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อนทุกข์ยากของราษฎร ที่ขาดแคลนนํ้าอุปโภคบริโภคและการการเกษตรจึงได้มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานโครงการพระราชดำริ “ฝนหลวง” (Artificial Rain) ให้กับ .ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ไปดำเนินการ ซึ่งต่อมาได้เกิดเป็นโครงการค้นคว้าทดลองปฏิบัติการฝนเทียมหรือฝนหลวงขึ้น ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๒ ด้วยความสำเร็จของโครงการ จึงได้ตราพระราชกฤษฎีกาก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๑๘ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเป็นหน่วยงานรองรับโครงการพระราชดำริฝนหลวงต่อไป

 

พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย

 

 

          คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๔๙ เห็นชอบตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เสนอให้ดำเนินโครงการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็น “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” เนื่องในโอกาสพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี และรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระอัจฉริยภาพ และพระปรีชาสามารถด้านนวัตกรรม โดยการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาสภาพดินเปรี้ยวให้สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ และกำหนดให้วันที่ ๕ ตุลาคมของทุกปี เป็น “วันนวัตกรรมแห่งชาติ” เนื่องจากในวันจันทร์ที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๓๕ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินโครงการของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีการทดลองปรับปรุงดินที่มีสภาพความเป็นกรดมาก โดยการใช้นํ้าจืดจากอ่างเก็บนํ้า ชะล้างกรดออกจากดิน ทำให้ดินมีคุณภาพดีขึ้นจนใช้ปลูกข้าวได้ ทำให้จังหวัดนราธิวาสสามารถปลูกข้าวได้เพียงพอกับการบริโภคและมีเหลือจำหน่าย ซึ่งเทคนิคนี้สามารถนำไปขยายผลในการปรับปรุงดินเปรี้ยวในพื้นที่เพาะปลูกอื่น ๆ ได้ด้วย จึงเกิดเป็นโครงการแกล้งดินต่อมา โครงการแกล้งดินเป็นโครงการที่มีความเป็นนวัตกรรมโดยใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวอันเกิดมาจากป่าพรุในประเทศเขตร้อนให้สามารถกลับฟื้นคืนสภาพที่สามารถทำการเพาะปลูกได้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งยังไม่มีที่ใดในโลกที่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้สำเร็จและนำมาเป็นตำราเผยแพร่แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการเป็น “นักนวัตกรรม” อย่างแท้จริง

 

          พระปรีชาสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และความตั้งพระราชหฤทัยที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทยนั้น เป็นที่ประจักษ์และเป็นที่สรรเสริญพระเกียรติคุณทั่วทิศานุทิศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ได้บำเพ็ญพระราชกรณียกิจมากหลายซึ่งเป็นคุณประโยชน์ใหญ่หลวงต่อชาวไทยและชาวโลก จึงมีการจัดงานและกิจกรรมเทิดพระเกียรติ ในวันที่ ๕ ตุลาคม “วันนวัตกรรมแห่งชาติ” และ วันที่ ๑๙ ตุลาคม “วันเทคโนโลยีของไทย” ของทุกปี รวมทั้งในโอกาสอื่น ๆ อย่างสมํ่าเสมอ เพื่อเป็นเกียรติและสิริอันสูงยิ่งแก่วงการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไทย

 

วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาพลังงาน

 

 

          เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเหมาะสม โดยให้มีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้เหลือถึงคนรุ่นหลัง ทำให้ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะทุ่มเทศึกษาวิจัยการใช้พลังงานอย่างเหมาะสม โดยพยายามนำทรัพยากรที่มีอยู่แล้วในประเทศมาพัฒนาเพื่อลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ พร้อมทั้งนำทรัพยากรที่ใช้แล้วมาสร้างประโยชน์

 

           พระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาพลังงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถือเป็นทิศทางด้านพลังงานไม่เพียงแต่ของประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นทิศทางอนาคตของมนุษย์ชาติเนื่องจากพระองค์ท่านทรงพระราชทานแนวทางในการศึกษาใช้ประโยชน์จากพลังงานทางเลือกแหล่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานจากลม พลังงานจากดวงอาทิตย์ และพลังงานจากนํ้า รวมทั้งพลังงานจากการนำวัสดุไร้ประโยชน์กลับมาใช้ใหม่ เพื่อใช้เป็นทางเลือกทดแทนเชื้อเพลิงปิโตรเลียมมากว่า ๓๐ ปี ตั้งแต่เมื่อนํ้ามันยังมีราคาถูก จนถึงปัจจุบันเมื่อโลกเริ่มขาดแคลนนํ้ามัน ทำให้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมมีราคาแพง ขึ้นอยู่กับกลไกการควบคุมของต่างชาติ

 

          แนวพระราชดำริเรื่องการพัฒนาพลังงานนั้น ล้วนมาจากพระวิริยะอุตสาหะในการศึกษาค้นคว้าด้วยพระองค์เอง รวมทั้งจากการหารือกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ซึ่งพระองค์ได้ทรงนำแนวคิดและความรู้มาทดลองเป็นโครงการพลังงานจำนวนมากในสวนจิตรลดา เช่น การผลิตก๊าซชีวภาพที่ทรงทดลองมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๒ อันเป็นเรื่องของการนำของเสียจากการเกษตรกลับมาใช้ใหม่เป็นพลังงาน โดยผลิตก๊าซจากมูลโคได้ประมาณวันละ ๒ ลูกบาศก์เมตรในชั้นต้นใช้เป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้ม ทำความสะอาดเครื่องรีดนม ต้มนํ้าเพื่อผสมอาหารสำหรับลูกโค และนำกากตะกอนมาเป็นปุ๋ยใส่ต้นไม้

 

          ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงศึกษาแนวทางที่จะพัฒนาระบบผลิตก๊าซชีวภาพขนาดใหญ่ เพื่อใช้กับโรงงานหรือฟาร์มเลี้ยงสัตว์ระดับอุตสาหกรรม จึงทรงมีพระราชดำริให้ทดลองที่สถานีวิจัยทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี โดยสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดสร้างระบบก๊าซชีวภาพแบบปลั๊กโฟลว์ขนาด ๑๗๐ ลูกบาศก์เมตรถวาย และได้นำความสำเร็จของการทดลองไปขยายผลเพื่อก่อสร้างระบบที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นที่ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมการเลี้ยงสุกรแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม และที่คณะสัตวบาล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้ปัจจุบันมีผู้ประกอบการให้ความสนใจนำระบบผลิตก๊าซชีวภาพขนาดใหญ่ไปใช้ในฟาร์มสุกรทั่วประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากพระราชดำริเกี่ยวกับพลังงานจากมูลสัตว์นี้

 

เอทานอล

 

          เอทานอล (Ethanol) หรือเอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl Alcohol) เป็นเชื้อเพลิงเหลวที่ได้จากการย่อยสลายแป้งและนํ้าตาลด้วยเอนไซม์ ผลิตจากพืชหลายประเภท เช่น ธัญพืช พืชนํ้าตาล และเส้นใย สามารถใช้ในอุตสาหกรรมหลายด้าน เช่น สี การแพทย์ เครื่องสำอาง รวมทั้งนำไปกลั่นให้มีความบริสุทธ์สูงเพื่อเติมผสมกับนํ้ามันเบนซิน หรือที่เรียกว่านํ้ามันแก๊สโซฮอล์ ซึ่งปัจจุบันมีการใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์อย่างกว้างขวาง

 

          การทดลองผลิตเอทานอลในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาเริ่มตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๘ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินตรวจเยี่ยมโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และมีพระราชดำรัสให้ศึกษาต้นทุนการผลิตแอลกอฮอล์จากอ้อยเพื่อเป็นการเตรียมการรับปัญหานํ้ามันขาดแคลนหรือราคาอ้อยตกตํ่า โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานเงินทุนเพื่อใช้ในการวิจัย รวมทั้งการจัดสร้างอาคารและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในขั้นต้น การศึกษาวิจัยของโครงการส่วนพระองค์เริ่มต้นอย่างเป็นขั้นตอน ด้วยการทดลองปลูกอ้อยหลายพันธุ์ เพื่อคัดเลือกพันธุ์ที่ดีที่สุดมาทำแอลกอฮอล์ และมีการก่อสร้างเครื่องหีบอ้อย ถังหมัก หอกลั่น โดยเริ่มเดินเครื่องผลิตใน พ.ศ.๒๕๒๙ และเมื่อมีวัตถุดิบไม่พอ ก็ทดลองใช้กากนํ้าตาลด้วย โดยแอลกอฮอล์ที่ผลิตได้ในช่วงแรกนำไปทำนํ้าส้มสายชูและแอลกอฮอล์แข็งสำหรับอุ่นอาหาร

ต่อมามีการปรับปรุงเทคนิคการกลั่น ทำให้สามารถผลิตแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ร้อยละ ๙๕ แต่ยังไม่สามารถนำไปผสมกับนํ้ามันเบนซินได้ เนื่องจากมีนํ้าผสมอยู่ ต้องนำไปกลั่นแยกนํ้าเพื่อให้ได้แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ร้อยละ ๙๙.๕ จึงต้องปรับปรุงให้มีกระบวนการแยกนํ้าก่อน จึงประสบผลสำเร็จตามพระราชประสงค์ และใน พ.ศ.๒๕๓๗ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาขยายกำลังการผลิตเอทานอลให้เพียงพอสำหรับผสมนํ้ามันเบนซิน ๙๑ ในอัตราส่วน ๑ : ๙ ได้เป็นนํ้ามันแก๊สโซฮอลล์ เติมให้กับรถยนต์ทุกคันของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา

 

          ในนํ้ามันปิโตรเลียมซึ่งเป็นสารไฮโดรคาร์บอน จะมีสารที่เผาไหม้ไม่หมดเหลืออยู่จากการเผาไหม้ อาทิ คาร์บอนมอนนอกไซด์ซึ่งเป็นมลภาวะ แต่ในแก๊สโซฮอลล์ แม้จะมีสัดส่วนของเอทานอลเพียงร้อยละ ๑๐ ก็สามารถลดมลภาวะได้มาก เนื่องจากในเอทานอลมีออกซิเจนเป็นส่วนประกอบ ทำให้ช่วยในการเผาไหม้ให้สมบูรณ์ รวมทั้งเป็นสารเพิ่มค่าออกเทนด้วย

 

โครงการพัฒนาคุณภาพแอลกอฮอล์ของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา

 

          ในการผลิตเอทานอลของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดานั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย มีโอกาสถวายงานในการพัฒนาคุณภาพแอลกอฮอล์ โดยเริ่มจากการคัดเลือกพันธุ์ยีสต์สำหรับหมักแอลกอฮอล์รวม ๘ สายพันธุ์ และทดลองควบคุมปัจจัยอื่น ๆ ในการหมัก เช่น อุณหภูมิ pH และความเข้มข้นของกากนํ้าตาล เพื่อให้ได้สายพันธุ์ยีสต์ที่ดีที่สุด และกระบวนการหมักที่เหมาะสมที่สุด โดยมีสารเจือปนไม่มาก

 

          หลังจากนั้น จึงทำการพัฒนาเทคนิคการกำจัดสารเจือปนต่าง ๆ ด้วยวิธีการทางเคมี ทั้งการใช้ผงคาร์บอน แผ่นดูดซับ ซิลิกาเจล และซีโอไลท์ รวมทั้งการปรับปรุงหอกลั่นและกระบวนการกลั่น โดยติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม และในระหว่างที่ทำการปรับปรุงกระบวนการกลั่นอยู่นั้น ยังได้ทดลองนำแอลกอฮอล์ร้อยละ ๙๕ ของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ไปกลั่นที่โรงงานต้นแบบของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อทดสอบหลักการกลั่นจนได้แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ร้อยละ ๙๙.๕ สำหรับผสมกับนํ้ามันเบนซินเพื่อเป็นแก๊สโซฮอล์เป็นผลสำเร็จ

 

โรงงานต้นแบบผลิตแอลกอฮอล์หรือเอทานอลไร้นํ้าแห่งแรกของประเทศไทย

 

          เพื่อสร้างองค์ความรู้และความชำนาญของนักวิทยาศาสตร์ไทยในการปรับปรุง คุณภาพแอลกอฮอล์ให้มีความบริสุทธิ์สูงพอที่จะผสมกับนํ้ามันเบนซินเป็นแก๊สโซฮอล์ได้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จึงร่วมมือกับสมาคมอุตสาหกรรมการหมักแห่งประเทศญี่ปุ่น จัดสร้างโรงงานต้นแบบผลิตแอลกอฮอล์หรือเอทานอลไร้นํ้า เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๔ โดยก่อสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ.๒๕๒๖

 

          โรงงานดังกล่าว นับเป็นโรงงานแห่งแรกและใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ที่มีกำลังการผลิตเอทานอลไร้นํ้า ๑,๕๐๐ ลิตรต่อวัน โดยมีเครื่องจักรอุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นเป็นพิเศษสำหรับใช้ในการผลิตแอลกอฮอล์หรือเอทานอลจากวัสดุการเกษตร ด้วยกระบวนการผลิตที่ประหยัดพลังงาน ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหน่วยงานในเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ใช้ประโยชน์จากโรงงานแห่งนี้ในการศึกษาวิจัยและฝึกอบรมบุคลากรมาจนถึงปัจจุบัน ในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่

          (๑) การใช้เอทานอลไร้นํ้าเป็นเชื้อเพลิง

          (๒) การทดลองตลาดผลิตภัณฑ์แก๊สโซฮอล์จากวัตถุดิบ มันสำปะหลังสด มันสำปะหลังเส้นและนํ้าเบียร์ที่หมดอายุ

          (๓) การตั้งโรงงานผลิตเอทานอลในประเทศไทย โดยศึกษาครอบคลุมถึงวัตถุดิบ สถานที่ตั้งโรงงาน ความเป็นไปได้ทางเทคนิค รูปแบบโรงงาน เครื่องจักร อุปกรณ์ การบริหารโรงงาน การนำผลพลอยได้มาใช้ประโยชน์ ผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

 

 

ไบโอดีเซล

 

          นอกจากการผลิตเอทานอลเพื่อทำเป็นแก๊สโซฮอล์สำหรับเครื่องยนต์เบนซินแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชยังทรงเล็งเห็นการณ์ไกลเรื่องสถานการณ์การขาดแคลนพลังงานจากปิโตรเลียม และราคาผลผลิตทางการเกษตรตกตํ่า จึงทรงมีพระราชดำริมาเป็นเวลานาน ให้มีการเตรียมการจัดการปัญหาโดยหาแหล่งพลังงานรูปแบบอื่นๆ เพื่อลดการพึ่งพาการใช้ปิโตรเลียม ไบโอดีเซลจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งโดยไบโอดีเซล คือนํ้ามันพืชหรือนํ้ามันสัตว์ รวมทั้งนํ้ามันที่ใช้แล้วจากการปรุงอาหาร มาทำปฏิกิริยาเคมีกับแอลกอฮอล์ เรียกว่าสารเอสเตอร์ มีคุณสมบัติใกล้เคียงนํ้ามันดีเซล และมีผลพลอยได้จากการผลิตเป็นกลีเซอรอล ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมและเครื่องสำอางด้วย

 

          ในช่วงที่โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาเริ่มต้นพัฒนาการผลิตเอทานอลนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการผลิตไบโอดีเซลด้วย โดยใน พ.ศ.๒๕๒๖ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สร้างโรงงานสกัดนํ้ามันปาล์มขนาดเล็กที่สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จังหวัดกระบี่ และใน พ.ศ.๒๕๓๑ ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้สร้างโรงงานสกัดนํ้ามันปาล์มบริสุทธิ์ขนาดเล็กที่ศูนย์การศึกษาพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้กองงานส่วนพระองค์ดำเนินการวิจัยและพัฒนาการผลิตนํ้ามันปาล์มสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล โดยมีการใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลของกองงานส่วนพระองค์ วังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๔๓ ได้ผลว่าการใช้นํ้ามันปาล์มบริสุทธิ์ร้อยละ ๑๐๐ ไม่ส่งผลกระทบในทางลบต่อเครื่องยนต์ดีเซลที่มีปั๊มและหัวฉีดนํ้ามันที่ผลิตงานละเอียด จากผลสำเร็จดังกล่าว เมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๔ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ยื่นจดสิทธิบัตร “การใช้นํ้ามันปาล์มบริสุทธิ์เป็นนํ้ามันเชื้อเพลิงเครื่องยนต์ดีเซล” โดยในปีนั้น สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติได้อัญเชิญผลงานชิ้นนี้ไปแสดงร่วมกับผลงานทฤษฎีใหม่และโครงการฝนหลวง ในนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ณ กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม โดยโครงการนํ้ามันไบโอดีเซลสูตรสกัดจากนํ้ามันปาล์มได้รับเหรียญทองประกาศนียบัตรสดุดีเทิดพระเกียรติคุณพร้อมถ้วยรางวัล ทำให้พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชขจรขจายในนานาชาติอีกครั้งหนึ่ง

 

โครงการวิจัยและพัฒนาพลังงานไบโอดีเซลจากนํ้ามันพืช

 

          กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย รับสนองแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาไบโอดีเซล ทั้งในการผลิตระดับชุมชนเพื่อการลดค่าใช้จ่ายและส่งเสริมการพึ่งพาตนเองของเกษตรกร และการผลิตระดับอุตสาหกรรม เพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อม และแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าจากการนำเข้านํ้ามันดิบและนํ้ามันสำเร็จรูปจากต่างประเทศ โดยมีผลงานสำคัญ ได้แก่

 

 

          (๑) เครื่องต้นแบบ

 

          (๑.๑) เครื่องต้นแบบขนาด ๑๕๐ ลิตรต่อวัน เป็นเครื่องต้นแบบชนิดต่อเนื่อง สามารถเคลื่อนย้ายโดยติดตั้งบนรถบรรทุกหกล้อ ภายใต้โครงการการศึกษาออกแบบการจัดตั้งโรงงานผลิตไบโอดีเซลนำร่องระดับชุมชน โดยการสนับสนุนจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน

          (๑.๒) เครื่องต้นแบบขนาด ๑,๕๐๐ ลิตรต่อวัน เป็นเครื่องต้นแบบชนิดต่อเนื่อง ภายใต้โครงการการศึกษาสาธิตการทดลองผลิตไบโอดีเซลระดับชุมชน โดยการสนับสนุนจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน

          (๑.๓) เครื่องต้นแบบขนาด ๒๐๐ ลิตรต่อวัน เป็นเครื่องต้นแบบชนิดกะมีวิธีการทำงานที่ไม่ซับซ้อน ง่ายต่อการควบคุม เหมาะสมกับระดับชุมชน ภายใต้โครงการโรงงานสาธิตผลิตไบโอดีเซลสำหรับชุมชนแบบครบวงจรเฉลิมพระเกียรติ ติดตั้ง ณ อำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี

 

 

          (๒) งานวิจัยไบโอดีเซลอื่น ๆ โดยครอบคลุมตั้งแต่วัตถุดิบ กระบวนการผลิตการกำหนดมาตรฐาน การใช้ประโยชน์จากผลพลอยได้ของการผลิต และการบำบัดมลพิษจากการผลิต ได้แก่

 

          (๒.๑) การวิจัยและพัฒนาการผลิตไบโอดีเซลจากนํ้ามันพืช เพื่อใช้เป็นสารเติมแต่งเพิ่มคุณสมบัติในการหล่อลื่น ในนํ้ามันดีเซลกำมะถันตํ่า เป็นความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยปิโตรเลียม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยและเทคโนโลยี บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)

          (๒.๒) โครงการการสร้างมาตรฐานและพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มคุณภาพของเชื้อเพลิงไบโอดีเซล เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และ National Institute of Advanced Industrial Science and Technology (AIST) ประเทศญี่ปุ่น

          (๒.๓) การวิจัยและพัฒนาการผลิตไบโอดีเซลจากวัตถุดิบประเภทต่าง ๆ เช่น กรดไขมันปาล์ม (PFAD) สบู่ดำ และนํ้ามันพืชใช้แล้ว

          (๒.๔) การวิจัยและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากผลพลอยได้ของกระบวนการผลิตไบโอดีเซล (กลีเซอรีน) ในรูปของการกลั่นกลีเซอรีนบริสุทธิ์ และการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ

          (๒.๕) การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการบำบัดนํ้าเสียจากกระบวนการผลิตไบโอดีเซล

          (๒.๖) การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเพิ่มมูลค่าการผลิตไบโอดีเซลจากนํ้ามันปาล์ม

 

 

เซลล์เชื้อเพลิง

 

          พระราชดำริในเรื่องการพัฒนาพลังงานเพื่อทดแทนการใช้ปิโตรเลียมเป็นเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมองปัญหาของประเทศและของโลกในระยะยาว โดยทรงมองเห็นทางออกของปัญหาด้วยการใช้ทรัพยากรในประเทศ และการพัฒนาเทคโนโลยีโดยคนไทยเอง เพื่อให้คนไทยพึ่งตนเองได้ ทั้งในระดับครัวเรือนและระดับอุตสาหกรรมเพื่อสนองแนวพระราชดำริเรื่องการพัฒนาพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงเห็นถึงความจำเป็นในการมองต่อไปในอนาคต ที่การผลิตพลังงานจากพืช แสงแดด ลม ซึ่งมีการใช้งานในปัจจุบันอาจมีจำนวนและประสิทธิภาพไม่พอกับความต้องการ เนื่องจากการขยายตัวของประชากรและกิจกรรมการผลิต จึงจำเป็นต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูงในการหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ให้เกิดความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ เซลล์เชื้อเพลิงจึงเป็นอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ความสนใจศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศในการก้าวสู่การใช้พลังงานทดแทนแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

 

          เซลล์เชื้อเพลิง คือการทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมี-ไฟฟ้า ระหว่างออกซิเจนกับไฮโดรเจนซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงพลังงานของเชื้อเพลิงไปเป็นพลังงานไฟฟ้าโดยตรง ไม่ต้องผ่านการเผาไหม้ ทำให้ไม่ก่อมลภาวะทางอากาศ ทั้งยังมีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องยนต์เผาไหม้ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เซลล์เชื้อเพลิงมีหลายชนิด ที่นิยมใช้คือเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน–ออกซิเจน เพราะเมื่อเกิดปฏิกิริยาในเซลล์แล้ว นอกจากจะได้รับพลังงาน ยังมีผลพลอยได้เป็นนํ้าบริสุทธิ์และความร้อน ซึ่งสามารถนำไปใช้ต่อได้ นอกจากนี้เซลล์เชื้อเพลิงชนิดนี้ยังไม่ทำลายชั้นบรรยากาศ เพราะไม่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเซลล์เชื้อเพลิงยังมีราคาสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับพลังงานจากแหล่งอื่น จึงยังจำเป็นต้องมีการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนต่อไป ก่อนที่จะนำมาใช้อย่างกว้างขวางเช่นเดียวกับนํ้ามันปิโตรเลียม ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติได้

 

 

โครงการหน่วยต้นแบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์เชื้อเพลิง ๑-๓ กิโลวัตต์ สำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดเล็กเพื่อนำไปใช้ในชุมชนที่ห่างไกลจากโรงไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐

 

          เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จึงมีโครงการวิจัยและพัฒนาสร้างต้นแบบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดเล็กจากเซลล์เชื้อเพลิงแบบออกไซด์ของแข็ง โดยผลิตไฮโดรเจนจากก๊าซมีเทน ซึ่งได้มาจากก๊าซชีวภาพจากการหมัก และแปลงพลังงานเคมีเป็นพลังงานไฟฟ้าคือ โดยให้ได้พลังงานที่สะอาดและมีประสิทธิภาพสูง ประกอบด้วย

 

 

         (๑) เซลล์เชื้อเพลิงแบบออกไซด์ของแข็ง (Solid Oxide Fuel Cells, SOFC) ที่ใช้ในโครงการนี้ มีลักษณะเป็นท่อเซรามิกอิเล็กโทรไลต์เคลือบด้วยชั้นของอาโนดด้านในท่อและคาโทดที่ด้านนอกของท่อ ซึ่งมีอุณหภูมิการทำงานที่สูงประมาณ ๘๕๐–๑,๐๐๐ องศาเซลเซียส ออกแบบเพื่อให้สามารถผลิตกำลังไฟฟ้าได้ขนาด ๑ กิโลวัตต์ ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงหลัก

 

          (๒) ชุดบำบัดก๊าซชีวภาพ เนื่องจากก๊าซชีวภาพที่จะนำมาใช้ในเซลล์เชื้อเพลิงมีก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ และไฮโดรเจนซัลไฟด์ปะปนอยู่ จึงมีผลต่อกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ จำเป็นต้องมีการบำบัดก๊าซชีวภาพให้เหมาะสมก่อนนำไปใช้งาน

 

          (๓) ชุดปฏิรูปเชื้อเพลิงจากก๊าซชีวภาพ โดยก๊าซชีวภาพที่ผ่านการกำจัดสิ่งเจือปนจะถูกนำเข้าสู่เตาเพื่อปฏิรูปเชื้อเพลิงไปเป็นไฮโดรเจนและคาร์บอนมอนออกไซด์ที่อุณหภูมิสูงสำหรับเป็นก๊าซเชื้อเพลิง

 

          (๔) ชุดควบคุมและดึงกระแสไฟฟ้า เป็นอุปกรณ์แปลงกระแสไฟฟ้าจากเซลล์เชื้อเพลิง จากกระแสตรงเป็นกระแสสลับ

 

          (๕) ระบบควบคุม สำหรับแสดงผลและควบคุมการทำงาน เช่น อุณหภูมิ ความดัน อัตราการไหล แรงเคลื่อนไฟฟ้า และกระแสไฟฟ้า โดยมีการบันทึกค่าเพื่อวิเคราะห์ในภายหลังด้วย

 

 

กองบรรณาธิการวารสารอินดัสเตรียลเทคโนโลยีรีวิว ได้ขออนุญาตคัดลอกเนื้อหาและรูปบางส่วนจากหนังสือ “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมหาปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ขอขอบพระคุณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มา ณ โอกาสนี้

 

กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จัดพิธีถวายพุ่มดอกไม้และถวายราชสดุดีเพื่อเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย”

 

 

          (๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๙) ดร.พิเชฐ  ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยข้าราชการ พนักงานเจ้าหน้าที่ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ร่วมพิธีถวายพุ่มดอกไม้และถวายราชสดุดีเพื่อเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” เนื่องใน “วันเทคโนโลยีของไทย” ประจำปี ๒๕๕๙ ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถนนพระราม ๖ ราชเทวี กรุงเทพฯ

 

          ดร.พิเชฐ  ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ความว่า “ข้าพระพุทธเจ้า นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยข้าราชการทุกหมู่เหล่า ตลอดจนพสกนิกรชาวไทยต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ  ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานต่อพสกนิกรชาวไทยมายาวนาน ในรัชสมัยของพระองค์ นับเนื่องแต่เสด็จฯ เถลิงถวัลย์ราชสมบัติ จวบจนสิ้นรัชกาล

 

          พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่พรั่งพร้อมด้วยทศพิธราชธรรม ทรงอุทิศพระวรกาย ประกอบพระราชกรณียกิจ เพื่อปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าอย่างต่อเนื่อง ทรงพระราชทานความช่วยเหลือ บำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ราษฎร สมดังพระปฐมบรมราชโองการ "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" ด้วยพระอัจฉริยภาพ ล้ำลึก เปี่ยมด้วยพระปรีชาญาณด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยทรงค้นคว้าวิจัยและทรงนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้พ้นจากความทุกข์ยาก มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสามารถพึ่งตนเองได้ ทั้งนี้ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถตลอดจนพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของพระองค์ดังประจักษ์แก่ชาวโลก จากโครงการอันเนื่องมาจากโครงการพระราชดำริต่าง ๆ  นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นแก่ชาวไทยทั้งมวล

 

          ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถอย่างหาที่เปรียบมิได้ เป็นที่ประจักษ์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมาโดยตลอด คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๓ เห็นชอบให้เทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะที่ทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และกำหนดให้วันที่ ๑๙ ตุลาคม ของทุกปี เป็น “วันเทคโนโลยีของไทย” เพื่อระลึกถึงวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๑๕ ที่ทรงอำนวยการสาธิตฝนหลวงสูตรใหม่ครั้งแรกของโลกด้วยพระองค์เอง ที่เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี นอกจากนี้ในส่วนของพระราชกรณียกิจพระองค์ที่พระราชทานให้แก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า เป็นสิ่งที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯจะต้องสานต่อสำหรับโครงการในพระราชดำรินั้นมีกว่า ๔,๐๐๐ โครงการมีประโยชน์ต่อประชาชนทุกหมู่เหล่า อาทิ การบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาการเกษตร การพัฒนาสาธารณสุข การใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายดาวเทียม การใช้เครื่องมือทางด้านวิทยาศาสตร์ในการตรวจสอบสภาพน้ำตลอดจนการพัฒนาการเกษตรยุคใหม่ ระบบแก้มลิง กังหันน้ำชัยพัฒนา สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และพยายามพัฒนาประเทศ มีจิตสาธารณะและนำเอาแบบอย่างที่พระองค์ได้วางไว้ไปขยายผลต่อในวงกว้าง โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนไทย

 

          ทั้งนี้ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ดำเนินการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่คือ “พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า” ขึ้นเพื่อเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เปิดโอกาสให้เยาวชนได้มาศึกษาหาความรู้ รวมทั้งระบบนิเวศที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความยั่งยืน โดยคาดว่าในปี พ.ศ.๒๕๖๑ จะเปิดให้ประชาชนเข้ามาเรียนรู้และใช้ประโยชน์ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๙ ทรงมีพระราชดำริให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สามารถจับต้องได้และให้เยาวชนสามารถเรียนรู้ได้จริง

 

          ในวโรกาสที่ “วันเทคโนโลยีของไทย” เวียนมาบรรจบครบรอบในปีพุทธศักราช ๒๕๕๙ นี้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะทรงเป็น "พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย" และขอน้อมถวายความจงรักภักดี ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ โดยจะตั้งปณิธานว่าจะดำรงตนให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชาติสืบไป ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ”

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด