เนื้อหาวันที่ : 2016-11-24 18:27:55 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2430 views

ดร.ชิตพงษ์ อัยสานนท์

วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

ayasanond@hotmail.com

 

 

เดิมที การตลาด (Marketing) และ โลจิสติกส์ (Logistics) จะถูกแยกส่วนออกจากกันในการทำธุรกิจส่วนใหญ่ โดยไม่ค่อยจะมีคนที่เข้าใจในเรื่องของการเชื่อมโยงกิจกรรมทั้งสองเข้าด้วยกัน ซึ่งในปัจจุบัน ตลาดต่าง ๆ เริ่มกลายเป็นตลาด โภคภัณฑ์ โดยที่ลูกค้าจะใส่ใจกับเวลาและการบริการมากขึ้น ความจำเป็นในการจัดการเชื่อมโยงระหว่างการตลาดและโลจิสติกส์ก็เพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ จนเป็นการบรรจบกันของการตลาดและโลจิสติกส์

 

     การจัดการในอดีตของธุรกิจส่วนใหญ่มักจะเป็นการจัดการตามแนวคิดแบบ ไซโล (Silos) คือ ต่างคน ต่างคิด ต่างคน ต่างทำ ขาดการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบขององค์กรธุรกิจ สมรรถนะขององค์กรธุรกิจจะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้ ย่อมเกิดจากการจัดการความสัมพันธ์ (Relations) ระหว่างองค์ประกอบ มากกว่าการจัดการองค์ประกอบเดี่ยว ๆ (Individual) ซึ่งแนวคิดเช่นนี้เป็นพื้นฐานของการบูรณาการ (Integration) วิสาหกิจหรือองค์กร เพื่อนำไปสู่วิสาหกิจแบบองค์รวม (Holistic Enterprise) ดังนั้นแนวคิดการตลาดในยุคปัจจุบันต้องปรับทิศทางการดำเนินการให้สอดคล้อง (Synchronize) กับองค์ประกอบอื่น ๆ ขององค์กร โดยมีแนวคิด โลจิสติกส์ เป็นตัวเชื่อมต่อองค์ประกอบต่าง ๆ ของกระบวนการธุรกิจให้เกิดการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการบูรณาการองค์ประกอบทางธุรกิจนั้นสอดประสานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเป้าหมายก็คือผลกำไรของธุรกิจนั้นเอง (Company Profit)

 

 

(http://images.slideplayer.com/11/2998223/slides/slide_14.jpg)

 

          Logistics และ Supply Chain ต่างดำเนินกิจกรรมอยู่ในอาณาบริเวณของตลาด ซึ่งก็คือลูกค้า แต่โดยข้อเท็จจริงในอาณาบริเวณของตลาดใช่จะมีแต่เฉพาะลูกค้า แต่ยังเป็นอาณาบริเวณเดียวกันกับคู่แข่งและอุปสรรคหรือภัยคุกคามทั้งที่อาจมาจากคู่แข่ง จากกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างจากภาครัฐที่เรียกว่า โครงสร้างส่วนบนของวิถีการผลิตที่เรียกว่า Super Structure หรือ PEST Analysis ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของสังคมที่มีต่อสินค้าของเรา ดังนั้นการที่จะแยกส่วนกระบวนการ Logistics และ Supply Chain ในลักษณะแยกส่วน อาจทำให้ลดศักยภาพในการแข่งขัน จึงต้องมีการจัดการแบบบูรณาการให้เป็นการจัดการแบบองค์รวม คือ มีลักษณะที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่จะเข้มข้นขนาดไหนจะให้น้ำหนักของ Logistics น้อยกว่าหรือมากกว่า Supply Chain ย่อมขึ้นกับสถานะภาพและความรุนแรงของการแข่งขันในตลาด หรือลักษณะความพร้อมของแต่ละธุรกิจและความสอดคล้องของการนำ Supply Chain Management (SCM) มาประยุกต์ใช้ในองค์กร จะเห็นถึงความคล้ายและความแตกต่างของโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ซึ่งต่างก็มีกระบวนการซึ่งมีกิจกรรมสนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยยากที่จะแยกออกจากกัน

               

          ทั้ง Logistics และ Supply Chain ต่างมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.ให้เกิดความสามารถในการแข่งขันที่เหนือกว่า 2.เพื่อทำให้ธุรกิจสามารถทำกำไรได้ดีกว่า และ 3.เพื่อทำให้องค์กร มีความยั่งยืนและมั่นคง

               

          Supply Chain Management (SCM) ซึ่งประกอบด้วย กระบวนการต่าง ๆ ซึ่งขับเคลื่อน โดยต่างมีภารกิจที่แตกต่างกัน แต่ทั้งหมดก็จะสนับสนุนเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน ในอันที่จะบรรลุถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงทั้ง 3 ข้อข้างต้น การที่จะกำหนดว่าหน่วยงานใดหรือกระบวนการใดจะเป็น Logistics หรือ Supply Chain จึงไม่อาจกำหนดเป็นวิธีการตายตัวได้ เช่น หน่วยงานจัดซื้อและจัดหา บางองค์กรก็เอาไปรวมไว้กับแผนกโลจิสติกส์แต่บางองค์กรก็เรียกหน่วยงานจัดซื้อ Supply Chain ขึ้นอยู่กับลักษณะและประเภทของธุรกิจ โดย ความเป็นบูรณาการของ SCM พอจะแยกแยะภารกิจของกระบวนการต่าง ๆ ใน Supply Chain ออกได้เป็นดังต่อไปนี้

  1. หน้าที่ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ (Strategy Plan) ในระดับขั้นตอนการวางแผนการตลาด โดยเน้นเป้าหมาย เพื่อให้ธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขันที่เหนือกว่า “Core Competitive”
  2. ภารกิจในการเติมคำสั่งซื้อ (Full Fill Order) ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในกิจกรรมของหน่วยงานบริการลูกค้า (Customers Service) ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับแต่ละธุรกิจ บ้างก็นำหน่วยงานนี้ไปขึ้นอยู่กับการตลาด บ้างก็นำไปไว้กับฝ่ายการผลิต บ้างก็ขึ้นตรงกับแผนก Supply Chain แต่ไม่ว่าจะไปวางไว้ที่หน่วยงานใด เป้าหมายของภารกิจนี้ก็เพื่อให้เกิดความพอใจของลูกค้า ที่เรียกว่า “Customer Satisfaction”
  3. หน้าที่ในการจัดซื้อจัดหาซึ่งในการจัดการ Supply Chain (ซึ่งไม่ใช่ เซ็งลี้ เชน) ภาระกิจการจัดซื้อไม่ใช่มุ่งไปสู่การขูดรีด (Exploitation) ให้ได้ราคาที่ต่ำสุด แต่มุ่งที่จะเป็นการทำธุรกิจที่เรียกว่า Win Win Partnership ดังนั้น  ภารกิจของหน่วยงานจัดซื้อจึงมุ่งไปสู่การจัดการคู่ค้าสัมพันธ์ ที่เรียกว่า SRM: Supplier Relationship Management ทั้งนี้ กิจกรรมของการจัดซื้อ ถือเป็นกิจกรรมในการสร้างพันธมิตรในการร่วมพลังทางธุรกิจ (Business Synergy) โดยมีเป้าหมายหลัก คือ ธุรกิจต้องมีต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ (Competitive Cost)
  4. หน้าที่สำคัญและดูว่าจะโดดเด่นของซัพพลายเชนก็คือ การจัดการขนส่งทั้งวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งปัจจัยส่วนหนึ่งก็จะเป็นเรื่องที่สามารถบริหารจัดการได้ แต่ภารกิจส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นการจัดการต่อปัจจัยภายนอก (External Factor) ซึ่งค่อนข้างจะควบคุมไม่ได้ เนื่องจากการขนส่งจะเป็นการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการจากแหล่งหนึ่ง (First Origin) ไปสู่อีกแหล่งหนึ่ง (Destination Origin) ซึ่งอาจจะอยู่อาณาบริเวณใกล้กันหรือต่างกันคนละมุมโลก ต้องอาศัย Mode การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport : Land, Sea, Rail, Air) รวมถึงต้องมีการผ่านพิธีการศุลกากร ต้องเกี่ยวข้องกับกฎหมายข้อห้ามของแต่ละท้องถิ่นหรือแต่ละประเทศรวมถึงภัยธรรมชาติและภัยจากสงครามการก่อการร้าย จะเห็นได้ว่าการขนส่ง ซึ่งเป็นกิจกรรมของ Logistics ดังนั้นโลจิสติกส์จึงไม่ใช่มีความหมายเฉพาะเป็นกิจกรรมภายในองค์กร อย่างแน่นอน แต่อย่างไรก็ดี เป้าหมายของการจัดการขนส่งสมัยใหม่ ก็เน้นไปที่การส่งมอบแบบทันเวลา Just In Time (JIT) ซึ่งการแข่งขันที่รุนแรงความเข้มของการส่งมอบสินค้าจะต้องเป็นแบบให้ตรงกับเวลาที่ลูกค้าต้องการ ที่เรียกว่า Real Time
  5. ภารกิจหลักของกระบวนการจัดการ Supply Chain ก็คือ จะต้องมีการเก็บสต๊อกสินค้า (Stock) ให้น้อยที่สุด หรือในปัจจุบันการจัดการคลังสินค้าสำเร็จรูปนั้นในบางธุรกิจสามารถทำได้ถึง Zero Stock คือ ไม่มีการเก็บสินค้าเลย ทั้งนี้ ก็เพื่อสนองต่อเป้าหมายที่สำคัญ ก็คือ ต้องการให้ธุรกิจมีต้นทุนที่แข่งขันได้ ซึ่งการที่จะทำภารกิจนี้ให้มีประสิทธิภาพนั้นก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการกระจายต้นทุน Cost Sharing ไปสู่บุคคลที่สาม ซึ่งก็หมายถึง Logistics Provider หรือ Outsources
  6. หน้าที่ในการจัดการเพื่อให้เกิดการไหลลื่น (Flow) ทั้งที่เกี่ยวกับสินค้าและข้อมูลข่าวสารภายในองค์กร ซึ่งภารกิจนี้จะอยู่ในกระบวนการหรือในกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายสินค้า (Moving) และข้อมูล ซึ่งเป็นกิจกรรมของ Logistics ซึ่งตรงภารกิจนี้เองทำให้เกิดการสับสนว่า Logistics เป็นกิจกรรมเฉพาะภายในองค์กรและ Supply Chain เป็นกิจกรรมระหว่างองค์กร โดยไปเอากิจกรรมของการเคลื่อนย้ายสินค้าภายในองค์กร ไปรวมกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องระหว่างองค์กร สำหรับเป้าหมายสำคัญของการเคลื่อนย้ายสินค้าและข้อมูลภายในองค์กรนั้น มีเป้าประสงค์ที่สำคัญเพื่อเป็นตัวเชื่อมให้แต่ละกระบวนการใน Supply Chain สามารถเชื่อมต่อกันเป็นโซ่ ที่รู้จักกันในนามโซ่แห่งคุณค่า หรือ Value Chain ซึ่งการที่จะดำเนินการให้ได้ถึงเป้าหมายนี้ จำเป็นจะต้องการจัดการข้อมูลข่าวสารและสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพ รวมถึง ต้องมีระบบอัตโนมัติเพื่อการจัดการการไหลลื่นของวัตถุดิบ-สินค้า (Flow Automation Systems) ทั้งนี้ในกระบวนการเคลื่อนย้ายสินค้าและข้อมูลข่าวสาร (Moving & Flow) จะมีผลต่อประสิทธิผลของการจัดการซัพพลายเชน เพราะจะเป็นกิจกรรมที่เชื่อมอยู่ตรงรอยต่อของโซ่อุปทาน
  7. หน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเครือข่ายและเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งในส่วนการวางแผนการตลาด, การเคลื่อนย้ายสินค้า, การกระจายสินค้าและส่วนงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยทั้งหมดนี้ก็มีเป้าหมายเพื่อความพอใจของลูกค้า (Customers Satisfaction) และให้การจัดองค์กร มีความเป็นบูรณาการทางข้อมูลสารสนเทศ
  8. หน้าที่ในการสร้างความแตกต่างที่เหนือกว่า (Differentiate) เนื่องจากการนำการบริหารจัดการ Supply Chain มาใช้ มีวัตถุประสงค์สำคัญก็เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ทั้งในตัวสินค้าและบริการ ซึ่งภารกิจนี้จะเป็นกิจกรรมเสริม (Strength Service) ซึ่งจะเป็นกิจกรรมซึ่งจะต้องกระจายไปอยู่แต่ละกระบวนการต่าง ๆ ของ Supply Chain แต่จะกระจายไปมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความเข้มข้นและนโยบายของธุรกิจเป็นสำคัญ ซึ่งในการดำเนินธุรกิจในสมัยปัจจุบัน ซึ่งเต็มไปด้วยการแข่งขัน ยากที่จะแยกความแตกต่างของคุณภาพในตัวสินค้าและราคา จึงจำเป็นจะต้องมีการแข่งขันที่ดี (Benchmarking) เพื่อสร้างจุดแตกต่างออกจากคู่แข่ง ซึ่งก็เป็นเรื่องของการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) นั่นเอง
  9. ภารกิจที่ถือเป็น Highlight ของซัพพลายเชนก็คือ ต้องการให้มีการขายซ้ำจากลูกค้า (Repeat Order) ซึ่งจะนำธุรกิจไปสู่การสร้างกำไรแบบยั่งยืน (Sustainable Profit) ซึ่งการที่จะให้ลูกค้าที่เคยสั่งซื้อสินค้าให้กลับมาซื้อสินค้าอย่างสม่ำเสมอในสภาพท่ามกลางการแข่งขัน ทั้งคุณภาพ ราคา และบริการ เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ในภารกิจนี้ก็เพื่อให้ลูกค้ามีการซื้อซ้ำได้นั้น ทุก ๆ กิจกรรมของ Supply Chain จะต้องมีการสนองตอบที่ดีจากลูกค้าหรือที่รู้จักกันว่า ECR : Efficient Customer Response ในการจัดการสมัยใหม่จึงได้วางหน้าที่นี้ไว้กับหน่วยงานลูกค้าสัมพันธ์ (CRM: Customers Relationship Management)
  10. หน้าที่ในการวางแผนการตลาด (Marketing Planning) จะเป็นภารกิจที่อยู่ในกิจกรรมของหน่วยงานคาดคะเนความต้องการของลูกค้า (Demand Forecasting) ซึ่งในบางธุรกิจ ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนกการตลาดแต่บ้างก็แยกเป็นหน่วยงานอิสระ ซึ่งเป้าหมายในการวางแผนการตลาดก็คือ ต้องการข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัยและรวดเร็ว ซึ่งหากจะสังเกตให้ดีจะเห็นว่าภารกิจวางแผนการตลาดนี้จะมาเชื่อมกลับกลายเป็นกิจกรรมของหน่วยงานวางแผนการตลาด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การปฏิสัมพันธ์ในแต่ละกระบวนการใน Supply Chain จะมีความเป็นบูรณาการเชื่อมต่อกันที่เป็นวงแหวนไม่ใช่ในรูปแบบที่ขนานกับแบบอนุกรม 

 

 

(http://images.slideplayer.com/10/2742370/slides/slide_31.jpg)

 

ลักษณะที่สำคัญของการจัดการโลจิสติกส์การตลาดนั้นก็คือ

  1. เป็นการสร้างตลาดใหม่
  2. เป็นการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า
  3. เป็นการสร้างคุณค่าให้ลูกค้า
  4. เป็นการแข่งขันด้านเวลา
  5. เป็นโซ่อุปทานที่ขับเคลื่อนด้วยอุปสงค์
  6. มุ่งเน้นการบริการเป็นสำคัญ

                               

          กล่าวได้ว่า การจัดการโลจิสติกส์การตลาด ก็คือ การกำหนดเป้าหมายความสำเร็จขององค์กร ซึ่งขึ้นอยู่กับการกำหนดความจำเป็นและความต้องการของกลุ่มเป้าหมายทางการตลาด และสามารถให้การตอบสนองต่อความต้องการนั้นได้ดีกว่าคู่แข่ง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ แนวคิดทางการตลาดนั้นคือการที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า องค์ประกอบสำคัญ 3 ประการของแนวคิดทางการตลาด คือ 1.ความพึงพอใจของลูกค้า 2.การรวมความพยายามทางการตลาด 3.กำไรของบริษัท เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ความพยายามทางการตลาดต้องรวมกับแนวความคิดของการมีผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้อง ที่ราคาเหมาะสม และประกอบกับการโฆษณาที่ถูกต้องและในสถานที่ที่ถูกต้อง นั่นก็คือการมีส่วนประสมการตลาดที่ถูกต้องนั่นเอง โลจิสติกส์มีบทบาทสำคัญในการที่จะทำให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องและถูกสถานที่ และการสร้างอรรถประโยชน์จากการได้รับสินค้าหรือบริการนั้นทันกับความต้องการ เพียงแต่ปัจจุบันตลาดมิได้จำกัดอยู่แค่ในประเทศ หากเป็นยุคของ Free Trade Agreement ที่เป็น Globalization มากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการก็ต้องรู้และเข้าใจถึงความหมายและความสำคัญของการตลาดระหว่างประเทศ (International Marketing) ให้มากขึ้น

                               

          การตลาดระหว่างประเทศ หรือ International  Marketing คือ กระบวนการวางแผนและการบริหารแนวคิดเกี่ยวกับการตั้งสินค้า การส่งเสริมการขาย และช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์และบริการให้เกิดการแลกเปลี่ยนในความพอใจของลูกค้าในอีกประเทศหนึ่ง โดยมีความสำคัญในประเด็นดังต่อไปนี้

  1. การที่เราศึกษาตลาดในต่างประเทศ ทำให้ธุรกิจสามารถประสบความสำเร็จและสามารถขยายกิจการ
  2. การตลาดระหว่างประเทศทำให้เกิดการค้าที่ระหว่างประเทศทำให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการขยายตัวของการจ้างงานทำให้มีการกระจายรายได้ของคน
  3. การศึกษาธุรกิจของต่างประเทศทำให้เปิดโลกให้กว้างขึ้น สามารถมองเห็นถึงกลยุทธ์ต่าง ๆ และสามารถรับมือได้ดี
  4. การตลาดระหว่างประเทศต้องดีจริง ๆ ถึงจะประสบความสำเร็จ ดังนั้น ผู้บริโภคจึงต้องพยายามปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพของสินค้าให้ดีขึ้นไป ทำให้ผู้บริโภคได้ใช้สินค้าและบริการที่มีคุณภาพไปด้วย
  5. การค้าระหว่างประเทศทำให้มีการกระจายความเสี่ยง เมื่อเศรษฐกิจในประเทศกำลังตกต่ำ ยังมีการค้ารายได้ในต่างประเทศทำให้กิจการดำรงอยู่ได้โดยไม่รับผลกระทบมากเกินไป
  6. การค้าระหว่างประเทศทำให้ประเทศมีการหมุนเวียนทางการค้า เพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศ

 

 

(http://businessjargons.com/wp-content/uploads/2015/09/International-marketing.jpg)

 

          การตลาดระหว่างประเทศ จะประกอบด้วย การค้นหา (Finding) และการสนองตอบความต้องการ (Satisfying) ของลูกค้าทั่วโลกโดยให้เหนือกว่าคู่แข่งขันทั้งคู่แข่งขันภายในประเทศและคู่แข่งขันจากต่างประเทศ ตลอดจนการประสานงานกิจกรรมการตลาดร่วมกันภายใต้ข้อจำกัดของสภาพแวดล้อมระดับโลก โดยรายละเอียดและส่วนประกอบต่าง ๆ ที่สำคัญของการทำการตลาดระหว่างประเทศมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ 5 ประการ ได้แก่ 1.การค้นหาความต้องการของลูกค้าระดับโลก 2.การตอบสนองความต้องการของลูกค้าระดับโลก 3.การทำให้มีคุณภาพและมีกลยุทธ์ที่เหนือกว่าคู่แข่งขัน 4.การประสมประสานและการประสานกิจกรรมการตลาด 5.การตระหนักถึงข้อจำกัดของสภาพแวดล้อมระดับโลก

 

          การจัดการตลาดระหว่างประเทศ (International Marketing Management) เป็นการวิเคราะห์ (Analysis) การวางแผน (Planning) การปฏิบัติตามแผน (Implementation) และการควบคุม (Control) โปรแกรมในการออกแบบ (Designed) การสร้างสรรค์ (Create) การสร้าง (Build) และการเก็บรักษา (Maintain) เพื่อประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนกับกลุ่มผู้ซื้อในตลาดต่างประเทศที่เป็นเป้าหมายเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การ

 

          การจัดการการตลาดระหว่างประเทศ สามารถพิจารณาทางด้านสภาพแวดล้อมได้ 2 ลักษณะ คือ 1.การแข่งขันในระดับโลก (Global Competition) โดยคู่แข่งขันที่มาจากทั่วโลกจะมีจุดแข็งที่แตกต่างกัน 2.สภาพแวดล้อมระดับโลก (Global Environment) จะเกี่ยวข้องกับความหลากหลายในปัจจุบันทางด้านรัฐบาล วัฒนธรรมและระดับรายได้ นอกจากนี้การจัดการการตลาดระหว่างประเทศ ต้องใช้ผู้บริหารด้านการตลาดที่มีขีดความสามารถมากกว่าการตลาดภายในประเทศ (Domestic Marketing) ซึ่งสิ่งที่ผู้บริหารด้านการตลาดให้ความสำคัญมากที่สุด 6 ประการ มีดังนี้ 

  1. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่(Developing New Products)
  2. การพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้ขายปัจจัยการผลิต ผู้จัดจำหน่าย ตลอดจนผู้ซื้อ(Developing Relationships with Suppliers, Distributors, Even Customers)
  3. การมีคู่แข่งขันระดับโลกน้อยรายแต่มีความแข็งแกร่งมาก(Fewer but Stronger Global Competitors)
  4. มีแรงกระตุ้นให้มีการแข่งขันด้านราคา(Enhanced Price Competition)
  5. การรวมตัวกันในระดับภูมิภาค และมีกฎระเบียบของรัฐบาลมากขึ้น(Greater Regional Integration and Government Regulations)
  6. การพัฒนาวัฒนธรรมทางการตลาด (Developing a Marketing Culture)

 

 

(http://www.ecustomercentric.com/wp-content/uploads/2016/08/Customer-Centric-Model.jpg)

 

หากจะเปรียบเทียบเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ หลักการตลาดโลจิสติกส์ในประเทศก็คือการสนองตอบ Physical Flow ของพฤติกรรมผู้บริโภคในประเทศ ส่วน การตลาดโลจิสติกส์ต่างประเทศ ก็คือการตอบสนอง Physical Flow ของพฤติกรรมผู้บริโภคในต่างประเทศนั้น ๆ ภายใต้แนวคิดของ PEST Analysis นั้นเอง

 

เอกสารอ้างอิง
• Martin Christopher and Helen Peck. (2006). Marketing Logistics. Elsevier Ltd, England.
http://businessjargons.com/wp-content/uploads/2015/09/International-marketing.jpg
http://images.slideplayer.com/10/2742370/slides/slide_31.jpg
http://images.slideplayer.com/11/2998223/slides/slide_14.jpg
http://www.ecustomercentric.com/wp-content/uploads/2016/08/Customer-Centric-Model.jpg
http://www.intertransportandbusiness.com/tag/
http://www.tanitsorat.com/view.php?id=31
http://202.29.22.164/e-learning/cd-1390/SOC22/topic3/linkfile/print5.htm

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด