เนื้อหาวันที่ : 2016-09-19 17:18:44 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 19065 views

ดร.วิทยา อินทร์สอน

สาขาวิชาช่างเชื่อมโลหะ วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์

อ.ปัทมาพร ท่อชู

สาขาวิชาอุตสาหกรรมศิลป์และเทคโนโลยี

มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์

 

 

การวางผังโรงงาน จะดำเนินการหลังจากที่ได้ทำการก่อสร้างอาคารโรงงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการออกแบบในการวางผังโรงงานให้แก่ระบบการผลิตนั้น ผู้ออกแบบจำเป็นต้องทราบถึงขั้นตอนการผลิต เพื่อจัดสถานที่ปฏิบัติการและจัดวางเครื่องจักรต่าง ๆ ให้เหมาะสมเพื่อที่จะให้การผลิต มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ถ้าหากจัดวางตำแหน่งเครื่องจักร และอุปกรณ์ไม่เหมาะสม ผลที่ตามมาอาจเกิดความสูญเสียในการทำงาน เครื่องจักรว่างงานมาก คนงานเกิดความสับสนในการทำงาน ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

 

     โดยทั่วไปแล้วการวางผังโรงงาน เมื่อมีความจำเป็นต้องโยกย้าย เปลี่ยนแปลงเครื่องจักร หรือแผนกงานต่าง ๆ การจัดวางผังโรงงานให้ดีนั้น จำเป็นต้องใช้วิศวกรโรงงาน ผู้บริหารจะต้องให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิด จึงจะทำให้งานสำเร็จลงได้ และเกิดประโยชน์สูงสุดตามวัตถุประสงค์ ดังนั้นความจำเป็นที่ต้องมีการวางผังโรงงาน มีสาเหตุหลายประการดังนี้คือ

 

  1. การเปลี่ยนแปลงลักษณะของผลิตภัณฑ์
  2. ขยายหรือลดขนาดของหน่วยงาน
  3. การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของเครื่องจักร
  4. การย้ายหน่วยงานหรือแผนก
  5. การเพิ่มชนิดของผลิตภัณฑ์ใหม่
  6. การเปลี่ยนแปลงสภาพการทำงานที่ไม่เหมาะสม

 

          การวางผังโรงงานใหม่จึงมีโอกาสดีกว่าในการที่จะได้แผนผังที่มีประสิทธิภาพสูงที่ดีกว่าแต่ผู้บริหารจะต้องศึกษาแผนผังที่ใช้อยู่ให้ละเอียดรอบคอบเสียก่อน เพื่อจะได้หาแนวทาง แก้ไข ปรับปรุง พัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม

 

 

รูปที่ 1 ตัวอย่างการวางผังโรงงานของสถานประกอบการ

 

วัตถุประสงค์ของการวางผังโรงงาน

 

          การวางผังโรงงานหรือสถานประกอบการ เพื่อให้ได้ใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า เกิดความปลอดภัย กระบวนการผลิต และการทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญดังต่อไปนี้

 

  1. เพื่อลดระยะทางและเวลาในการเคลื่อนย้ายวัสดุ
  2. เพื่อช่วยลดเวลาในการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบ และขจัดปัญหาด้านการทำงานมากเกินไป
  3. เพื่อความสะดวกในการดำเนินงาน โดยแบ่งเนื้อที่ในโรงงานได้อย่างเหมาะสม เช่น ช่องทางเดิน พื้นที่เก็บสินค้า พื้นที่พักวัตถุดิบ จุดปฏิบัติงาน ที่พักชิ้นงานที่เป็นสินค้าสำเร็จรูป
  4. เพื่อขจัดสิ่งรบกวน การสั่นสะเทือนของพื้นที่ ฝุ่นละออง ความร้อน กลิ่น การถ่ายเทอากาศ
  5. เพื่อจัดแผนงานต่าง ๆ ให้ทำงานในกรอบความรับผิดชอบชัดเจน ให้เอื้อต่อกระบวนการผลิต และง่ายต่อการควบคุม
  6. เพื่อการจัดวางพื้นที่ให้มีประโยชน์อย่างเต็มที่
  7. เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาด้านสุขภาพ และสร้างความปลอดภัยให้กับคนงาน

 

เป้าหมายพื้นฐานของการงานผังโรงงาน

 

          การออกแบบผังโรงงาน เป็นกระบวนการที่ซับซ้อน เพราะจะเป็นการวางแผนที่เกี่ยวข้องกับงานหลาย ๆ ด้านที่ต่างก็มีความสัมพันธ์กันมากบ้างน้อยบ้างและงานแต่ละด้านก็มีผลกระทบต่อผลกำไรทั้งสิ้น การออกแบบผังโรงงานที่ไม่ถูกต้องจะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น เพราะจะทำให้มีการใช้ทรัพยากรการผลิตอย่างไม่มีประสิทธิผล โดยมีเป้าหมายพื้นฐานดังนี้

 

          1. หลักการเกี่ยวกับการรวมกิจกรรมทั้งหมด ผังโรงงานที่ดีจะต้องรวมคน วัสดุ เครื่องจักร กิจกรรมสนับสนุนการผลิต และข้อพิจารณาอื่น ๆ ที่ยังผลทำให้การรวมตัวกันดีที่สุด

          2. หลักการเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ในระยะทางสั้นที่สุด ผังโรงงานที่ดีก็คือ ผังโรงงานที่มีระยะทางการเคลื่อนที่ของการขนถ่ายวัสดุระหว่างกิจกรรม หรือระหว่างหน่วยงานน้อยที่สุด

          3. หลักการเกี่ยวกับการไหลของวัสดุ การไหลของวัสดุต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไปยังหน่วยงานต่อ ๆ ไปโดยไม่มีการวกวนกลับไปกลับมา หรือเคลื่อนที่ตัดกันไปมา

          4. หลักการเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ การใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์มากที่สุดทั้งแนวนอนและแนวตั้ง

          5. หลักการเกี่ยวกับการทำให้คนงานมีความพอใจและมีความปลอดภัย ผังโรงงานที่ไม่ดีเป็นเหตุก่อให้เกิดอันตรายและอุบัติเหตุต่อคนและทรัพย์สินของโรงงาน

          6. หลักการเกี่ยวกับความยืดหยุ่น ผังโรงงานที่ดีต้องสามารถปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงโดยเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดและทำได้สะดวก

 

ความหมายของการวางผังโรงงาน

 

          อิสรา ธีระวัฒน์สกุล ได้กล่าว่า การวางผังโรงงาน คือแผนงานในการติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นและเหมาะสมในการผลิตภายในอาคารที่มีอยู่ รวมทั้งการวางผังโรงงาน หรือออกแบบอาคาร เพื่อทำให้ขบวนการผลิตมีประสิทธิภาพสูงสุด

 

          วันชัย ริจิรวนิช ได้กล่าวว่า การวางผังโรงงาน คือ การจัดระเบียบประสานงานของเครื่องจักรและสถานที่ทำงานอย่างได้ผลภายใต้ข้อจำกัดของพื้นที่ สำหรับการจัดวางผังโรงงงาน โดยมีวัตถุประสงค์จะให้เกิดกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงสุดจากการดำเนินงาน

 

          สมศักดิ์ ตรีสัตย์ ได้กล่าวว่า การวางผังโรงงาน ( Plant Layout ) เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดวางเครื่องจักร อุปกรณ์  คน  วัสดุ สิ่งอำนวยความสะดวก และสนับสนุนการผลิต ให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม เพื่อให้การปฏิบัติงานในโรงงาน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

 

          สรุปว่า การวางผังโรงงาน (Plant Layout) หมายถึง การจัด วางเครื่องมือ เครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ วัตถุอื่น ๆ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการผลิต เพื่อช่วยสนับสนุนกระบวนการผลิตภายใต้ข้อจำกัดของอาคารที่มีอยู่ให้เหมาะสมกับตำแหน่ง โดยทำให้การดำเนินการผลิตนั้นเกิดประโยชน์ มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

 

 

รูปที่ 2 ตัวอย่างโรงงานอุตสาหกรรม

 

ความสำคัญของการวางผังโรงงาน

 

          การวางผังโรงงานมีความสำคัญ ซึ่งเป็นกิจกรรมในการกำหนดตำแหน่งของคน เครื่องจักร วัสดุ และสิ่งสนับสนุนการผลิตให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ก่อให้เกิดกระบวนการผลิตที่เหมาะสม ลดเวลาว่างเปล่า (Idle Time) การไหลของวัสดุเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ระยะเวลาการผลิตสั้นลง มีความยืดหยุ่นสูง เมื่อมีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงทำได้สะดวกและเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตต่ำลง

 

  1. ช่วยให้เกิดความสมดุลในการปฏิบัติงาน หรือกระบวนการผลิต แบ่งปริมาณงานในแต่ละหน่วยให้เท่ากัน
  2. ช่วยลดสิ่งรบกวนต่าง ๆ ที่เกิดจากเครื่องจักรเครื่องมือขณะปฏิบัติงาน เช่น การสั่นสะเทือน เสียง ควัน กลิ่น ฝุ่น และเศษโลหะ เป็นต้น
  3. ช่วยลดอุบัติเหตุ และอันตรายที่จะเกิดกับผู้ปฏิบัติงานเนื่องจากการติดตั้งเครื่องจักร เครื่องมือถูกต้องตามหลักการ เช่น ฐานเครื่องจักรถูกยึดแน่นไม่สั่นสะเทือน เครื่องจักรไม่วางชิดกันจนเกินไป เป็นต้น
  4. เพิ่มสุขภาพจิตแก่คนงาน ทำให้บรรยากาศการทำงานดีขึ้น คนงานพอใจในสภาพการทำงานของตน เช่น ห้องทำงานมีระบบการถ่ายเทอากาศ และแสงสว่างเพียงพอ เป็นต้น
  5. ช่วยให้สามารถใช้ประโยชน์จากสถานที่ของโรงงานอย่างมีประสิทธิภาพพื้นที่ทุกตารางหน่วยของโรงงานให้คุ้มค่า
  6. ช่วยให้การใช้แรงงานที่มีอยู่ได้ประโยชน์เต็มที่ ช่วยขจัดการสูญเสียเวลาในการเดินไปมาขณะปฏิบัติงาน หรือเวลาในการขนย้ายวัตถุดิบอุปกรณ์ต่าง ๆ
  7. ช่วยให้มีความยืดหยุ่นตัวต่อการเปลี่ยนแปลง การวางแผนโรงงานต้องเว้นระยะพื้นที่ไว้สำหรับกรณีที่ต้องโยกย้าย หรือเพิ่มเติมเครื่องจักรอุปกรณ์ใหม่ ๆ

 

ประโยชน์ของการวางผังโรงงาน

 

          การออกแบบผังโรงงานช่วยทำให้การดำเนินการผลิตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งประโยชน์ของการวางผังโรงงานที่เหมาะสม มีดังต่อไปนี้คือ

 

          1. ช่วยให้เกิดความสมดุลในกระบวนการผลิต คือจะช่วยแบ่งเบาภาระงาน หรือปริมาณงานต่าง ๆ ในหน่วยผลิต ให้เกิดความสมดุลของงาน ระหว่างคนกับเครื่องจักร ได้เท่าเทียมกัน ทำให้ขั้นตอนการผลิต การขนย้ายวัสดุ ดำเนินการผลิตเป็นไปได้อย่างสม่ำเสมอและราบรื่น

 

          2. ช่วยทำให้ลดค่าเงินลงทุนสำหรับเครื่องจักร เป็นการวางแผนจัดการทางด้านเครื่องมือเครื่องจักร และอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งช่วยทำให้สามารถกำหนดเครื่องจักรได้อย่างเหมาะสม แก่กระบวนการผลิตและประหยัดค่าใช้จ่ายในด้านการลงทุน

 

          3. ช่วยลดอันตรายและอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นกับคนงาน เป็นการวางผังติดตั้งเครื่องมือเครื่องจักรภายในบริเวณของโรง งานให้ถูกต้อง เพื่อที่จะช่วยป้องกันและลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นในโรงงานให้น้อยลง

 

          4. เกิดการใช้พื้นที่ภายในโรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ คือ โรงงานประกอบด้วยพื้นที่ใช้ในการผลิต การประกอบ การบรรจุ การตรวจสอบ การขนส่ง การเก็บวัสดุ งานบริการ และอื่น ๆ ซึ่งถ้าจัดจัดวางผังโรงงานได้อย่างเหมาะสมถูกต้องแล้ว การจัดคนเข้าทำงานกับเครื่องจักรได้เหมาะสม การประสานงานกันได้อย่างทั่วถึงก็ทำให้เกิดการใช้พื้นที่ภายในโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

          5. ช่วยลดสิ่งรบกวนที่เกิดจากเครื่องจักร เป็นสิ่งรบกวนที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตจากการใช้เครื่องทำงานในระหว่างการปฏิบัติงาน เช่น เสียง การสั่นสะเทือน ฝุ่น ควัน กลิ่น และเศษวัสดุต่างๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของคนงานได้ ดังนั้นการวางผังโรงงานที่ดี และเหมาะสมจะช่วยขจัดสิ่งรบกวน ที่เกิดจากเครื่องจักรเหล่านี้ได้อย่างดี

 

          6. ช่วยทำให้สภาพแวดล้อมในการทำงานดีขึ้น การวางผังโรงงานที่ดีถูกแบบแผน มีการจัดระบบการถ่ายเทอากาศ แสงสว่างพอเพียง ถูกสุขลักษณะ และองค์ประกอบอื่น ๆ จะช่วยให้บรรยากาศในการทำงานดีขึ้น คนงานทำงานรู้สึกสบาย พอใจในการทำงาน และมีทรรศนะคติที่ดีต่อการทำงาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มสุขภาพจิตแก่คนงาน

 

          7. ช่วยให้การใช้แรงงานที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การวางผังโรงงานที่เหมาะสมช่วยให้การทำงานในส่วนของกระบวนการผลิต คนงานได้ทำงานเต็มที่ ซึ่งจะช่วยขจัดไม่ให้คน งานต้องสูญเสียเวลาในการเดินไปเดินมาขณะทำงาน และเสีย เวลาการขนย้ายวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เพราะเกิดจากการจัดวางในตำแหน่งที่เหมาะสม สามารถหยิบใช้ได้สะดวก รวดเร็วขึ้น

 

          8. ช่วยให้ลดค่าใช้จ่ายในการขนย้ายวัสดุ การจัดวางเครื่องมือที่เป็นระบบ จะช่วยลดระยะทางในการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการผลิต จนกระทั่งออกมาเป็นผลผลิตหรือสินค้าสำเร็จรูป ลดจำนวนการขนย้ายวัสดุในระบบงานต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนย้าย หรือใช้แรงงานลดน้อยลงได้

 

          9. ช่วยให้มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น การวางผังโรงงานที่ดีคือจะต้องมีความยืดหยุ่นเพียงพอ การเว้นระยะพื้นที่ ช่องทางเดินไว้สำหรับการขนย้าย โยกย้าย สับเปลี่ยนตำแหน่ง และเพิ่มเติมเครื่องจักรสำหรับออกแบบกระบวนการผลิตใหม่หรือสามารถปรับจัดใหม่ในกรณีที่มีความจำเป็นอาจเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยเพิ่มค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดและสะดวกต่อการเปลี่ยนแปลง

 

          10. ประโยชน์อื่นๆ เช่น ลดแรงงานทางอ้อม ลดความสูญเสีย การควบคุมดูแลสะดวก การปรับปรุงสภาพการทำงานได้ง่ายขึ้น การประหยัดพลังงาน และด้านการบริการอื่น ๆ เป็นต้น

 

ประเภทของการวางผังโรงงาน

 

          การวางผังโรงงานเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้องค์กรเกิดความได้เปรียบเปรียบในด้านการแข่งขัน ในการจัดวางเครื่องมือเครื่องจักร และอุปกรณ์สำหรับการผลิต จะต้องทราบถึงลักษณะของโรงงาน กระบวนการผลิต ความเหมาะสมในการนำไปใช้งานและข้อมูลการใช้งานของเครื่องจักร โดยประเภทของการวางผังโรงงาน มีดังต่อไปนี้คือ

 

  1. การวางผังตามกระบวนการผลิต (Process Layout)
  2. การวางผังตามลักษณะผลิตภัณฑ์ (Product Layout)
  3. การวางผังแบบอยู่กับที่ (Fixed Position Layout)
  4. การวางผังแบบผสม(Mixed Layout)

 

          1. การวางผังตามกระบวนการผลิต (Process Layout)  

 

          เป็นการจัดวางเครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ต่าง ๆ ไว้เป็นหมวดหมู่ หรือลักษณะการใช้งานเหมือนกันไว้ในแผนกเดียวกัน การวางผังโรงงานแบบนี้เหมาะสำหรับการผลิตที่มีจำนวนไม่มาก อาจผลิตตามใบสั่งซื้อ ขนาดของผลิตภัณฑ์ไม่แน่นอน สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาแต่ก็สามารถผลิตได้หลายชนิด

 

 

 

รูปที่ 3 การวางผังตามกระบวนการผลิต (Process Layout)

 

          2. การวางผังตามลักษณะผลิตภัณฑ์ (Product Layout)

 

          เป็นการจัดลำดับขั้นตอนการผลิต โดยจัดเรียงแถวเครื่องจักร ไปตามขั้นตอนการผลิต ซึ่งจะมีการผลิตสินค้า เป็นแบบชนิดเดียวเหมาะสำหรับการผลิตแบบต่อเนื่อง เช่น การผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ การผลิตรถยนต์ และการผลิตกระป๋อง เป็นต้น

 

 

รูปที่ 4 การผลิตเฟอร์นิเจอร์

 

 

 

รูปที่ 5 การวางผังตามลักษณะผลิตภัณฑ์ (Product Layout)

 

 

รูปที่ 6 การวางผังตามลักษณะผลิตภัณฑ์ (Product Layout)

 

          3. การวางผังแบบอยู่กับที่ (Fixed Position Layout)

 

          เป็นการวางผังโดยชิ้นงานจะอยู่กับที่ โดยนำอุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องจักรต่าง ๆ ไปใช้ในการผลิตชิ้นงานชิ้นหนึ่ง ซึ่งจะมีน้ำหนักมากหรือมีขนาดใหญ่ เช่น การสร้างเขื่อน การสร้างเรือ และการสร้างเครื่องบิน เป็นต้น

 

 

รูปที่ 7 อุตสาหกรรมเครื่องบิน

 

 

 

รูปที่ 8 การวางผังแบบอยู่กับที่ (Fixed Position Layout)

 

 

          4. การวางผังแบบผสม (Mixed Layout)

 

          เป็นการวางผังที่ผสมผสานรูปแบบการวางผังแบบ 1-3 โดยอาจจัดพนักงานใหทํางานเปนกลุม ซึ่งใหจัดงานกันเอง อาจจัดการทํางานออกเปนกลุ่มผลิต เพื่อผลิตเพียงบางสวนของผลิตภัณฑ์ เชน การผลิตอุปกรณชิ้นสวนวิทยุและโทรทัศน เปนตน แบงออกเปน 3 กลุมคือ การวางผังแบบเซลล์ (Cellular) การวางผังแบบปรับเปลี่ยน (Flexible Manufacturing Systems) และการวางผังแบบผลิตภัณฑผสม (Mixed Model Assembly Lines)

 

 

รูปที่ 9 การวางผังโรงงานแบบผสม (Mixed Layout)

 

ขั้นตอนการวางผังโรงงาน

 

          จันทร์ศิริ สิงห์เถื่อน ได้กล่าวว่า ขั้นตอนการวางผังโรงงานแบบทั่วไป มีด้วยกัน 3 ขั้นตอนดังนี้คือ

 

          1. การวางผังโรงงานขั้นต้นการวางผังโรงงานแบบนี้เป็นการกำหนดขอบเขตเอาไว้กว้าง ๆ ว่าจะกำหนดให้พื้นที่นี้ทำอะไร พื้นที่ตรงนี้ต้องอยู่ใกล้กับหน่วยงานใด เป็นต้น

          2. การวางผังโรงงานอย่างละเอียด เป็นการกำหนดรายละเอียดในแต่ละแผนกว่าในแผนกนี้จะติดตั้งเครื่องจักร เครื่องมือตรงไหน มุมไหนทางเดินภายในแผนก จะกำหนดอย่างไร สรุปแล้วการวางผังโรงงานอย่างละเอียดก็คือการมองไปในรายละเอียดของแต่ละแผนกนั่นเอง

          3. การติดตั้งเครื่องจักรเป็นขั้นนำการวางผังโงงานอย่างละเอียดมาสู่การปฏิบัติ คือการติดตั้งเครื่องจักรตามที่วางผังไว้แล้วให้สามารถปฏิบัติงานได้

ดังนั้นในการวางผังโรงงานนั้น ผู้วางผังควรมีการวางให้รัดกุมมากพอสมควร จึงจะทำให้การวางผังโรงงานเกิดผลดี และได้ใช้ประโยชน์จากโรงงานอย่างคุ้มค่า เช่น

  • วางผังโรงงานขั้นต้นก่อน แล้วจึงวางผังอย่างละเอียด
  • ควรออกแบบผังโรงงานไว้เลือกหลากหลายแบบ
  • ผู้วางผังโรงงานต้องรู้ว่าผู้บริหารจะเลือกวิธีการขนย้ายวัสดุภายนอก ภายในโรงงานแบบใด
  • ควรมีการติดต่อขอความคิดเห็นจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง

 

          สมศักดิ์ ตรีสัตย์ ได้กล่าวว่า ขั้นตอนในการวางผังโรงงานแบบที่เป็นระบบ หมายถึง การวางผังโรงงานที่เป็นระบบมีประสิทธิภาพนั้น ผู้ที่ทำการวางผังโรงงานจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในขั้นตอนการวางผังโรงงาน โดยมีวิธีที่ควรปฏิบัติดังนี้คือ

 

          1. การเก็บรวมรวมข้อมูล เป็นข้อมูลต่าง ๆ เพื่อใช้ในการประกอบการวางแผน

          1.1 จำนวนลักษณะของแรงงาน และเครื่องมือเครื่องจักร อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการผลิต

          1.2 ขนาดของกำลังการผลิตที่ทางโรงงานต้องการ

          1.3 ความต้องการลักษณะของพื้นที่ใช้สอย ใช้ในการจัดเก็บวัตถุดิบสินค้าคงเหลือและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปต่าง ๆ

          1.4 ขนาดและลักษณะของทางเดิน เส้นทางไหลหรือเคลื่อนย้ายวัสดุไปตามจุดบริเวณต่าง ๆ ในระหว่างทำการผลิต

          1.5 ทราบถึงลักษณะขนาดของความกว้าง ความยาว ของโรงงานมีพื้นที่ใช้สอยที่ใช้ในการตั้งโรงงานดังกล่าว

          1.6 ลักษณะอุปกรณ์พิเศษที่จำเป็นจะต้องวางในโรงงาน

 

          2. การวางแผนผังกระบวนการผลิต เป็นการวางผังโรงงานอย่างละเอียด ผู้วางแผนจะต้องกำหนดบริเวณสำหรับติดตั้งเครื่องจักร บริเวณสำนักงาน บริเวณผลิต บริเวณห้องเครื่องมือ บริเวณเก็บพัสดุ และบริเวณอื่น ๆ เป็นส่วนประกอบ โดยต่อไปจะกำหนดรายละเอียดว่าแต่ละแผนกจะติดตั้งเครื่องจักรตรงไหน ทางเดินภายในแผนกจะผ่านตรงไหน มีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด โดยมีการใช้เทคนิคต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนได้ดังนี้คือ

          2.1 วิธีการวาดรูป (Drawing) คือผู้วางผังจะต้องเตรียมผังวาดตามมาตราส่วน กำหนดว่าจะวางเครื่องจักรตรงไหน บริเวณใด เมื่อได้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องแล้วก็จะนำไปปรึกษากับฝ่ายต่าง ๆ เพื่อแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่าง ๆ ซึ่งอาจร่างผังโรงงานใหม่อีกครั้ง โดยช่วยให้การวางผังโรงงานออกมาในรูปแบบที่สมบูรณ์ และเหมาะสมที่สุด เป็นที่นิยมเหมาะสำหรับโรงงานที่จะนำไปใช้ในการวางผังกระบวนการผลิตที่จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรที่มีจำนวนมาก บริเวณผลิตจะมีพื้นที่กว้างขวางเพียงพอ

          2.2 วิธีการสร้างแผ่นภาพจำลอง (Templates) คือจะใช้กระดาษแข็งตัดให้เป็นรูปร่างต่าง ๆ ซึ่งจะใช้กระดาษสีคละกัน ตัดเป็นรูปร่างเครื่องจักรแบบต่าง ๆ แล้วนำไปวางบนแผ่นกระดาษแข็งที่จัดไว้เป็นพื้นโรงงาน โดยมีการย่อมาตราส่วนกำหนดไว้ให้เล็กลง เพื่อความสะดวกในการวัดระยะต่าง ๆ

 

 

รูปที่10 แผ่นภาพแบบจำลองธุรกิจ (Business Model Canvas)

 

          2.3 วิธีการสร้างหุ่นจำลอง (Models) การวางผังโรงงานอุตสาหกรรมในปัจจุบันเป็นที่นิยมใช้กันมาก เพราะสะดวกในการเคลื่อนย้ายหุ่นจำลองเครื่องจักร เมื่อต้องการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงผังโรงงานใหม่ หุ่นจำลองทำจากไม้ซึ่งจะทาสีที่แตกต่างกัน โดยขนาดจะลดลงไปตามขนาดมาตราส่วน แล้วนำไปวางลงบนแผ่นพื้นรูปโรงงาน ตามขนาดสัดส่วนที่ได้วางตำแหน่งเอาไว้

รูปที่ 11 วิธีการสร้างหุ่นจำลอง

 

          3. การจัดทำแผนภูมิการไหลกระบวนการผลิต (Process Flow Chart) เป็นการบันทึกข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการผลิต โดยมีการกำหนดสัญลักษณ์แทนกิจกรรมต่าง ๆ ไว้ เพื่อทำให้เข้าใจกระบวนการผลิตได้ง่ายขึ้น ซึ่งสมาคมวิศวกรรมเครื่องกลแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (American Society of Mechanical Engineer: ASME) เป็นผู้กำหนดสัญลักษณ์ขึ้นมามี 6 ชนิดคือ

 

          1.  การดำเนินงาน (Operation) เป็นการเปลี่ยนแปลงแปรสภาพวัตถุดิบ การถอดประกอบวัสดุ การเตรียมวัสดุ และอื่น ๆ ซึ่งนับว่าเป็นการดำเนินการอย่างหนึ่ง

          2.  การตรวจสอบ (Inspection) เป็นการตรวจสอบนับจำนวน พิจารณาถึงคุณสมบัติว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ และจำนวนปริมาณว่าเป็นไปตามกำหนดหรือไม่

          3.  การขนส่ง (Transportation) เป็นการเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์ จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เพื่อทำให้การผลิตดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

          4.  การรอคอย (Delay) เป็นขั้นตอนที่วัตถุดิบ หรือผลิตภัณฑ์ต้องหยุดรอการเสียเวลาในการผลิต หรือเป็นการหยุดชั่วขณะ เพื่อให้หน่วยผลิตที่อยู่ถัดไปว่างจึงจะส่งเข้าหน่วยผลิตได้ หรือรอการขนย้าย

          5.  การเก็บรักษา เป็นการรักษาวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ ไว้ใช้สำหรับกระบวนการผลิตและเก็บไว้สำหรับนำออกไปใช้งาน

          6.  กิจกรรมผสม (Multiple Operation) หรือการรวมกิจกรรม (Combined Activity) คือจะมีกิจกรรมหลาย ๆ กิจกรรมรวมกัน ซึ่งจะใช้สัญลักษณ์วงกลมอยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยม วงกลม หมายถึง การดำเนินงาน และสี่เหลี่ยม หมายถึง การตรวจสอบไปพร้อม ๆ กัน ณ บริเวณหน่วยผลิตนั้น ๆ

 

         แผนภูมิการไหล คือแสดงผังบริเวณที่ทำงานและตำแหน่งของเครื่องจักรที่เกี่ยวข้องกับการผลิต โดยจะกำหนดสเกลหรือไม่กำหนดก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม สามารถแบ่งออกได้ 2 ชนิดคือ

 

          1. ผังการไหลของวัสดุ (Material Type) เป็นการแสดงถึง การเคลื่อนที่ของวัตถุดิบในกระบวนการผลิต

          2. ผังการไหลของคน (Man Type) เป็นการแสดงถึงการเคลื่อนที่ของคนในการทำงาน

 

 

รูปที่ 12 สัญลักษณ์ที่ใช้ในแผนภูมิกระบวนการผลิต

 

          ขั้นตอนการวางผังโรงงานที่กล่าวมา เป็นการเตรียมการเบื้องต้นก่อนที่จะทำการวางผังโรงงาน ซึ่งเมื่อได้ประชุมปรึกษา หารือเรียบร้อยแล้ว ก็จะใช้เทคนิคต่าง ๆ มาช่วย เช่น การวาดรูป การสร้างแผ่นภาพ และการสร้างหุ่นจำลอง หลังจากนั้นก็จัดทำ  แผนภูมิการไหลของกระบวนการผลิต เพื่อจะได้ปรับปรุงกระบวน การผลิตให้มีประสิทธิภาพต่อไป

 

ปัจจัยที่ใช้พิจารณาในการวางผังโรงงาน

 

          1. ความต้องการสำหรับผลิตภัณฑ์ซึ่งต้องการเครื่องจักรในการผลิตสำหรับวัตถุประสงค์ก็แตกต่างไปในการผลิตแต่ละชนิด ซึ่งการวางแผนที่ควรจะให้มีความยืดหยุ่นเพื่อการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการใช้เครื่องจักรต่าง ๆ ควรมีการวางแผนไว้สำหรับการใช้เครื่องจักร โดยทั่ว ๆ ไปเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงก็อาจจะเปลี่ยนได้โดยง่าย

          2. การเสี่ยงภัยของความล้าสมัยของเครื่องจักรโดยในปัจจุบันมีความล้าสมัยเร็ว เพราะโรงงานผลิตได้พยายามปรับปรุงและผลิตรูปแบบใหม่ ๆ มันจึงเป็นเรื่องเสี่ยงภัย และไม่ฉลาดเลยในการจะลงทุนซื้อเครื่องจักรที่ใกล้จะล้าสมัยมาติดตั้งใช้ในโรงงาน

          3. คุณภาพของผลผลิต เป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงในเรื่องการวางแผนผังโรงงาน เพราะวัตถุประสงค์ของการผลิต คือต้องการให้สินค้ามีคุณภาพสูงดังนั้นในบางครั้งคุณภาพของสินค้าอาจจะลดลง เพราะแบบการติดตั้งเครื่องจักรไม่ถูกต้องจึงทำให้คุณภาพของสินค้าอาจลดลง ด้วยสาเหตุจากการใช้เครื่องจักรล้าสมัยจึงทำให้สินค้านั้นล้าสมัยไปด้วย ดังนั้นจึงควรใช้เครื่องจักรใหม่ เพื่อปรับปรุงคุณภาพของสินค้าให้ใหม่ตามไปด้วย ซึ่งเป็นการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตไปในตัว

          4. ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา เครื่องจักรมักจะเสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาน้อยและถ้าหากติดตั้งเครื่องจักร เพื่อที่จะใช้ผลิตต่อเนื่องกันได้ ก็นับว่าจะลดต้นทุนในการบำรุงรักษาให้น้อยลงได้

 

การจัดวางผังโรงงานที่ดี

 

          1. เครื่องมือการขนถ่ายลำเลียงวัสดุ ควรมีการออกแบบแผนผัง ให้สอดคล้องกับการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ด้วย

          2. พื้นที่ว่าง ควรจะต้องมีพื้นที่ว่างระหว่างกันระหว่างโต๊ะทำงาน เครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ

          3. สภาพแวดล้อมและความสวยงาม ควรจัดมุมมองจากทางหน้าต่าง การประดับด้วยต้นไม้ การระบายอากาศที่ดี ฯลฯ

          4. การสื่อสารหรือการไหลของข้อมูล เป็นการสื่อสารระหว่างกัน และจำเป็นต่อการดำเนินงาน

          5. ต้นทุนในการเคลื่อนย้าย หรือส่งวัสดุไปยังหน่วยผลิตต่าง ๆ ควรต้องคำนึงถึงระยะทางการเคลื่อนย้าย และเวลาที่ใช้

 

หลักเกณฑ์ในการวางผังโรงงาน

 

          การวางผังโรงงานหรือสถานประกอบการต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นแนวทาง ซึ่งมีหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณา ดังต่อไปนี้คือ

 

          1. ความคล่องตัว คือในการเคลื่อนย้ายวัสดุ เครื่องมือ และอุปกรณ์ต่าง ๆ จะต้องมีความคล่องตัว สามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่าย

          2. การประสานงาน คือแต่ละแผนกงานจะต้องมีการประสานที่ดีและสอดคล้องกันเพื่อทำการผลิต สามารถดำเนินการผลิตให้สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

          3. การใช้ประโยชน์ของเนื้อที่ คือทุกส่วนของพื้นที่โรงงาน จะต้องใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

          4. เข้าถึงง่ายที่สุด หรือหยิบใช้ได้ง่ายสะดวก คืออุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักรต่าง ๆ จะต้องมีทางผ่านเข้าถึงได้ง่าย สะดวก และไม่ควรมีสิ่งกีดขวางทางเดิน

          5. มองเห็นได้ชัดเจน คือบริเวณของโรงงานมีแสงสว่างที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน เครื่องจักรควรมีการจัดไว้ให้เป็นสัดส่วนและเป็นระเบียบเพื่อช่วยลดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้

          6. การเคลื่อนย้ายน้อย คือควรจะหลีกเลี่ยงการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ระหว่างการผลิตโดยไม่จำเป็นและควรเลือกใช้อุปกรณ์ในการขนถ่ายให้เหมาะสมกับลักษณะงาน เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการทำงาน

          7. เคลื่อนย้ายวัสดุทางเดียว คือเส้นทางในกระบวนการผลิตควรที่จะเป็นเส้นทางเดียวกันไม่ควรที่จะสวนทางกัน เพราะอาจทำให้เกิดความสับสนเกิดความล่าช้าในการทำงานหรืออาจจะเกิดอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เช่นกัน

          8. ระยะทางสั้นที่สุด คือในการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์จะต้องมีระยะทางที่สั้นที่สุดเพื่อทำให้การดำเนินการผลิต เป็นไปได้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยประหยัด และลดต้นทุนการผลิต

          9. ความปลอดภัย คือในการทำงานจะต้องคำนึงความปลอดภัย โดยเป็นเรื่องที่สำคัญมากอันดับแรกในการทำงาน อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักรต่าง ๆ ที่ใช้ในโรงงาน จะต้องมีป้ายแสดงเตือนภัยต่าง ๆ เพื่อให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจนและควรปลูกฝังจิตสำนึกให้กับพนักงานหรือบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เช่น ถังดับเพลิง ประตูฉุกเฉิน สัญญาณเตือนภัย แสงสว่างเพียงพอ และ อื่น ๆ เป็นต้น

          10. สภาพแวดล้อมดี คือสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี คนงานมีความพึงพอใจในการทำงาน การออกแบบผังของโรงงานควรที่จะมีอากาศถ่ายได้สะดวก การถ่ายเทความร้อน การควบคุมเสียง การสั่นสะเทือน ห้องพักผ่อน ห้องพยาบาล และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ช่วยให้การปฏิบัติงานของคนงานมีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น

 

 

ข้อมูลอ้างอิง
1. จันทร์ศิริ สิงห์เถื่อน. (มปป.) ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
2. ฉลวย ธีระเผ่าพงษ์ และอุทัยวรรณ สุวคันธกุล. การวางแผนโรงงานอุตสาหกรรม. (2532). ภาควิชาพื้นฐานอุตสาหกรรม คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สถาบันราชภัฏพระนคร.
3. ชัยนนท์ ศรีสุภินานนท์. (2535). การออกแบบผังโรงงาน. กรุงเทพฯ : บริษัท เอช.เอ็น.กรุ๊ป จำกัด.
4. นิตยา งามภักตร์. (2554). การคัดเลือกผังและการจำลองสถานการณ์ด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อการออกแบบผังโรงงานแบบเซลลูลาร์. วิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
5. วิทยา อินทร์สอน. (2558). เอกสารประกอบการสอนวิชาการบริหารงานอุตสาหกรรม. (Industrial Management). สาขาวิชาช่างเชื่อมโลหะ วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์.
6. วันชัย ริจิรวนิช. (2541). การออกแบบผังโรงงาน. กรุงเทพฯ: ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย.
7. สมศักดิ์ ตรีสัตย์. (2544). การออกแบบและวางผังโรงงาน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ ส.เอเชีย เพรส.
8. Apple, J.M., (1977). Plant Layout and Material Handling, 3rd Edition, John Wiley & Sons, New York,
9. http://www.oknation.net/blog/uriyalanews/2009/08/20/entry-1
10. http://mte.kmutt.ac.th/elearning/Mte411_Organization/project-www/bont8.html
11. http://b3startup.com/nec-p2.html

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด