เนื้อหาวันที่ : 2016-09-14 15:07:50 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1768 views

     สวัสดีคุณผู้อ่านที่รักทุกท่านครับ ช่วงนี้กระแสข่าวของรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเราค่อนข้างจะมาแรง ทั้งมาจากฟากรัฐบาลเองและภาคเอกชน ซึ่งจุดประสงค์หลักของรัฐบาลก็คือ อยากให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากปัจจุบันนี้เราเองก็เป็นฐานในการผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออกจากค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่หลายค่ายด้วยกัน มีการลงทุนในสายการผลิต เทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับยานยนต์จำนวนมาก ซึ่งจะเป็นฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าได้ ดังนั้นจึงอยากสนับสนุนให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์เหล่านี้ใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อเป็นการต่อยอดออกไป ซึ่งเป็นแนวคิดที่น่าสนใจทีเดียว

 

          สำหรับความเป็นไปได้นั้นหลายฝ่ายก็ยังมีความเป็นกังวล เนื่องจากมองว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย ยังมีข้อเสียเปรียบอยู่หลายประการ ทั้งสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของไทยเองยังไม่เอื้อต่อการจำหน่ายและผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากปัจจัยด้านราคาที่สูงกว่ารถยนต์ทั่วไปและการรองรับในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ยังเพียงพอ อีกทั้งปัจจัยของการขาดผู้เชี่ยวชาญ บุคลากรแรงงานก็ยังขาดทักษะที่เพียงพอ เป็นต้น

           

          แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากมีการผลักดันร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของไทยมีความเป็นไปได้ในอนาคต ก็ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยครับ ส่วนความก้าวหน้าในประเด็นนี้เอง รัฐบาลได้มีการกำหนดเป้าหมายให้ทุกกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งผลักดันนโยบายเพื่อสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยให้ชัดเจนภายในพฤศจิกายนปีนี้ โดยในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าหลายกระทรวงต่างให้ความร่วมมือในการจัดโครงการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นโครงการกำหนดมาตรฐานของเต้ารับเต้าเสียบสำหรับการประจุไฟฟ้าในรถยนต์ไฟฟ้าหรือการศึกษาการให้สิทธิประโยชน์การลงทุนผ่าน BOI ของกระทรวงอุตสาหกรรม โครงการนำร่องการใช้รถโดยสารพลังงานไฟฟ้า 200 คันของกระทรวงคมนาคมที่อยู่ระหว่างการทดลองใช้รถเมล์ Diesel-Hybrid สำหรับรถเมล์ ขสมก. โครงการของกระทรวงพลังงานที่สนับสนุนทุนจัดตั้งสถานีประจุไฟฟ้า 76 ล้านบาท โครงการสนับสนุนของ iEVT และ สวทช. สำหรับพัฒนามอเตอร์และแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าของผู้ผลิตชิ้นส่วน รวมไปถึงการวิจัยและพัฒนาเส้นใยเก็บพลังงานในแบตเตอรี่ลิเทียม (Li-ion Batteries) สำหรับใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และในส่วนของภาคเอกชนนั้น ถือว่าบริษัท BMW เป็นรายแรกที่มีการประกาศขยายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชนิด PHEV (รุ่น X5 และ 330e) ภายในปีนี้เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปจีนที่ถือเป็นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งมียอดขายมากกว่า 2 แสนคันในปี 2015 นอกจากนี้ ผู้ผลิตค่ายยุโรป เช่น Mercedes-Benz, Porsche ก็มีการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าชนิด Plug in Hybrid (PHEV) หลากหลายรุ่น รวมถึงผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากญี่ปุ่น FOMM ก็อยู่ระหว่างเจรจาเพื่อลงทุนในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและผลิตแบตเตอรี่ในไทยด้วยเช่นกัน

 

          สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในบ้านเรา วันนี้แม้จะเป็นแค่จุดเริ่มต้น แต่ก็ถือเป็นก้าวสำคัญ รัฐบาลเองยังได้กำหนดให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเป็นหนึ่งใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมีโครงการนำร่องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า การสนับสนุนงบประมาณการวิจัยและพัฒนาสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และการผลักดันให้มีการจัดทำแผนมุ่งเป้าด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ซึ่งการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้ประสบความสำเร็จเข้าใกล้ความจริงนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังจากหลายฝ่าย แม้วันนี้จะยังไม่ได้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย แต่คาดว่าหากมีการส่งเสริมสนับสนุนอย่างจริงจังก็น่าจะมีการผลิตและมีการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยภายในระยะเวลาไม่กี่ปีข้างหน้าครับ

 

 

 

เศรษฐกาญจน์ อนุวัตรวงศ์

sedthakarn@se-ed.com

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด