เนื้อหาวันที่ : 2015-11-16 11:29:41 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3207 views

เศรษฐภูมิ เถาชารี

สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ วิทยาลัยนานาชาติพระนคร มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร

sedthapoom@pnru.ac.th

 

 

 

ปัจจุบัน เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญ ในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้ประกอบการ เพื่อการบริหารงานในองค์กรธุรกิจ กระบวนการทางธุรกิจรูปแบบใหม่ถูกสร้างและควบคุมโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์เป็นหลัก ในการเชื่อมโยงสารสนเทศทั้งภายในและภายนอกองค์กร ส่งผลให้ความสามารถในการสื่อสาร ตลอดจนการประมวลผลเพื่อตัดสินใจเป็นไปอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และยังสามารถสร้างความแตกต่างให้กับสินค้า ตลอดจนสร้างคุณค่าและลดต้นทุนการผลิตได้อีกด้วย

 

 

               ทคโนโลยีที่นิยมนำมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการโลจิสติกส์ภายในองค์กรธุรกิจให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพที่สำคัญคือ GPS (Global Positioning System) Barcode RFID (Radio Frequency Identification) EDI (Electronics Data Interchange) การวางแผนทรัพยากรวิสาหกิจ (Enterprise Resource Planning: ERP) ระบบการจัดการคลังสินค้า (Warehouse Management System: WMS) และระบบการจัดการการขนส่ง (Transportation Management System: TMS) ซึ่งเรานิยมเรียกเทคโนโลยีเหล่านี้ว่า เทคโนโลยีทางโลจิสติกส์ โดยมีรายละเอียดที่สำคัญของแต่ละเทคโนโลยีดังต่อไปนี้คือ

 

                GPS (Global Positioning System) เป็นระบบที่ใช้ในการบอกตำแหน่งของสิ่งต่าง ๆ บนโลกนี้ โดยระบบ GPS จะใช้เทคโนโลยีของดาวเทียมที่จะเป็นเครื่องมือในการพิจารณาหาจุดพิกัดบนโลกนี้ โดยใช้พิกัดตัวเลขของละติจูดและลองติจูด ทำให้ทราบถึงตำแหน่งที่แท้จริงของสิ่งนั้น ๆ โดยอุปกรณ์ GPS Receiver หรือเครื่องรับสัญญาณดาวเทียมนั้น จะทำงานโดยการใช้ดาวเทียมที่ลอยอยู่เหนือพื้นโลกตั้งแต่สามดวงขึ้นไปในเวลาเดียวกัน เพื่อที่จะได้ระบุพิกัดตำแหน่งของสิ่งต่าง ๆ และจะแม่นยำยิ่งขึ้นหากมีจำนวนดาวเทียมมากขึ้น สำหรับระบบ GPS นั้น ได้ถูกเริ่มใช้และพัฒนาขึ้นโดยกองทัพของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะใช้ในการหาพิกัดจุดต่าง ๆ บนโลกในการสู้รบทำสงครามกัน แต่ในปัจจุบัน GPS ได้ถูกนำมาใช้ในเชิงการค้าพาณิชย์ ในการติดตาม ตรวจสอบการเดินทางขนส่งสินค้าของรถบรรทุกสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยของ เศรษฐศักดิ์ เลิศประเสริฐเวช (2548) ที่ได้ศึกษาถึงผลที่ได้จากการนำระบบ GPS เข้ามาใช้เพื่อช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการธุรกิจขนส่ง และทราบถึงความคุ้มค่าในการลงทุน รวมไปถึงความเหมาะสมที่จะนำมาปรับใช้ทั้งในองค์กรขนาดเล็กจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งผลการวิเคราะห์ที่ได้จากการสัมภาษณ์กับองค์กรที่มีการนำระบบไปใช้จริง เพื่อช่วยในการตัดสินใจลงทุนของผู้ประกอบการรายอื่นและในหน่วยงานราชการที่มีความสนใจในการนำระบบ GPS ไปปรับใช้ รวมไปถึงการวางแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านการจราจรที่เป็นปัญหาใหญ่ สำหรับเมืองใหญ่ ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ พบว่าระบบ GPS สามารถที่จะช่วยให้มีการจัดการเส้นทางที่ถูกต้อง เนื่องจากจะสามารถเห็นได้ว่าเส้นทางไหนมีปริมาณรถมากหรือน้อย เพื่อช่วยในการลดการใช้น้ำมันที่ต้องเสียเวลาที่ต้องติดอยู่ในรถนาน อีกทั้งเป็นการป้องกันการโจรกรรมรถยนต์ด้วย และ สรไกร ปัญญาสาครชัย (2548) ได้ศึกษาการนำเทคโนโลยี GPS มาประยุกต์ใช้ในการเพิ่มคุณภาพการบริการขนส่งสินค้าและบริการทางถนน พบว่า จากคุณสมบัติความสามารถในการระบุตำแหน่งบนพื้นโลกผ่านดาวเทียม กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่าคุณสมบัตินี้ทำให้ผู้รับบริการรู้สึกมั่นใจ ไว้ใจได้เมื่อได้รับการบริการขนส่งผ่านระบบ GPS และมีระดับความพึงพอใจในระดับมาก และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่าคุณสมบัตินี้ทำให้ผู้รับบริการได้รับการบริการที่ดีขึ้นเมื่อได้รับการบริการขนส่งผ่านระบบ GPS และมีระดับความพึงพอใจในระดับมาก และจากคุณสมบัติค้นหาเส้นทาง ทำให้ผู้รับสินค้าได้รับสินค้าตรงตามวันและเวลาที่ได้ตกลงไว้และมีระดับความพึงพอใจในระดับมาก ดังนั้นจากคุณสมบัติดังกล่าวของเทคโนโลยี GPS มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการขนส่งสินค้าและบริการทางถนนมีผลต่อความสำเร็จทางด้านคุณภาพการบริการ ซึ่งทำให้เกิดความพึงพอใจของผู้ได้รับบริการขนส่งสินค้าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

 

               Barcode หรือในภาษาไทยเรียกว่า “รหัสแท่ง” ประกอบด้วยเส้นมืดประกอบด้วยเส้นมืด (มักจะเป็นสีดำ) และเส้นสว่าง(มักเป็นสีขาว)วางเรียงกันเป็นแนวดิ่ง เป็นรหัสแทนตัวเลขและตัวอักษร ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถอ่านรหัสข้อมูลได้ง่ายขึ้น โดยใช้เครื่องอ่านบาร์โค้ด (Barcode Scanner) ซึ่งจะทำงานได้รวดเร็วและช่วยลดความผิดพลาดในการคีย์ข้อมูลได้มาก บาร์โค้ดเริ่มกำเนิดขึ้นเมื่อ ค.ศ.1950 โดยประเทศสหรัฐอเมริกาได้จัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจทางด้านพาณิชย์ขึ้นสำหรับค้นคว้ารหัสมาตรฐานและสัญลักษณ์ที่สามารถช่วยกิจการด้านอุตสาหกรรมและสามารถจัดพิมพ์ระบบบาร์โค้ดระบบ UPC-Uniform ขึ้นได้ในปี 1973 ต่อมาในปี 1975 กลุ่มประเทศยุโรปจัดตั้งคณะกรรมการด้านวิชาการเพื่อสร้างระบบบาร์โค้ดเรียกว่า EAN-European Article Numbering สมาคม EAN เติบโตครอบคลุมยุโรปและประเทศอื่น ๆ (ยกเว้นอเมริกาเหนือ) และระบบบาร์โค้ด EAN เริ่มเข้ามาในประเทศไทยเมื่อปี 1987 Barcode เป็นหนึ่งในหลายวิธีที่ได้ผลดี ในการตรวจสอบสินค้าขณะขาย การตรวจสอบยอดการขาย การตรวจสอบยอดขาย และสินค้าคงคลัง เราสามารถที่จะอ่านบาร์โค้ดได้ โดยใช้เครื่องสแกนเนอร์ (Barcode Scanner) หรือเครื่องอ่านบาร์โค้ด ซึ่งวิธีนี้จะรวดเร็วกว่าการป้อนข้อมูลเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ (Computer) โดยเปลี่ยนเป็นวิธีการยิงเลเซอร์ไปยังแท่งบาร์โค้ด โดยเครื่องสแกนจะทำหน้าที่เป็นฮาร์ดแวร์ (Hardware) ส่งข้อมูลไปยังคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันมีการประยุกต์การใช้งานบาร์โค้ดเข้ากับการใช้งานของ Mobile Computer ซึ่งสามารถพกพาได้อย่างสะดวก เพื่อทำการจัดเก็บ แสดงผล ตรวจสอบ และประมวลในด้านอื่น ๆ ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของ สุมาลี บัวขาว (2548) ได้ศึกษาการใชรหัสแทงในการบริหารสินค้าคงคลังของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเปนอุตสาหกรรมที่มีสวนผลักดันใหมีการนําวัตถุดิบภายในประเทศมาสรางใหเกิดมูลคาทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและตางประเทศ โดยในปจจุบันมีการการแขงขันที่รุนแรงมากขึ้น กลยุทธหนึ่งที่ถูกนํามาใชคือการสงมอบสินค้าใหลูกคาไดรับความพึงพอใจสูงสุด ดังนั้นการบริหารสินคาคงคลังจึงเปนสิ่งสําคัญที่กิจการต้องจัดการใหมีประสิทธิภาพ ผูควบคุมดูแลดานบัญชีและการเงินจึงจําเปนตองเฝาติดตามระดับของสินคาคงคลังใหอยู่ในระดับที่เหมาะสมอยู่เสมอ จึงมีการนําเครื่องมือตาง ๆ เชน รหัสแทงมาประยุกตใช ดังนั้นการศึกษาในครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงคเพื่อศึกษาถึงวิธีการและขั้นตอนของการนำระบบรหัสแทง EAN.UCC13 มาใชในการบริหารสินคาคงคลังและศึกษาถึงประโยชน ปญหาและอุปสรรคที่พบในการนํามาใชในการบริหารสินคาคงคลังของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม โดยประชากรในการศึกษาเป็นสมาชิกของสถาบันรหัสสากล สังกัดสภาอุตสาหกรรมแหงประเทศไทย เฉพาะในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งเปนผูผลิตทั้งหมดจํานวน 57 ราย โดยไดรับแบบสอบถามตอบกลับ จํานวน 39 รายคิดเป็นร้อยละ 68.4 และวิเคราะหขอมูลเชิงสถิติโดยใชโปรแกรมคอมพิวเตอร สถิติที่ใชไดแก่ คาร้อยละ คาเฉลี่ยและคาความถี่ ผลการศึกษาพบวา ผูที่ใชรหัสแทงในการบริหารสินคาคงคลังส่วนมากมีความเห็นว่ารหัสแทงมีประโยชนมาก มีผลทําใหการตรวจนับสินคาคงคลังมีความถูกตองแมนยํามากขึ้น และการ ควบคุมสินคาคงคลังมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถนําไปประยุกตใชใหเกิดประโยชน์ต่อกิจการในรูปของการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกสได ปญหาและอุปสรรคที่พบ สวนมากเกิดจากการขัดของของเครื่องมือและอุปกรณ์ และพบว่ามีผู้ที่ไม่ใช้รหัสแท่งบริหารสินค้าคงคลังแต่ต้องมีรหัสแท่งติดกับสินค้าเนื่องจากลูกค้ากำหนดให้ต้องมี สาเหตุส่วนมากที่ไม่ใช้รหัสแท่งบริหารสินค้าคงคลังเพราะมีต้นทุนด้านอุปกรณ์และซอฟแวร์ที่สูง

 

                RFID (Radio Frequency Identification) เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการระบุสิ่งต่าง ๆ แบบไม่ต้องสัมผัสโดยใช้คลื่นความถี่วิทยุ มีองค์ประกอบหลัก คือ แท็ก (Tag) เสาอากาศ (Antenna) เครื่องอ่าน (Reader) และซอฟต์แวร์ (Software) RFID แบ่งตามย่านความถี่ได้ 4 ประเภท คือ 1.Low Frequency (LF) ย่านความถี่ 125 – 134 KHz 2.High Frequency (HF) ย่านความถี่ 13.56 MHz 3.Ultra-High Frequency ย่านความถี่ 920–925 MHz (สำหรับประเทศไทย) 4) Microware ย่านความถี่ 2.45 – 5.8 GHz เมื่อเรานำองค์ประกอบทั้งหมดไปใช้งานในรูปแบบต่าง ๆ เรียกว่า RFID Solution เช่น การติดตามทรัพย์สิน รถยนต์ เครื่องมือ การติดตามเอกสารสำคัญ เช่น เอกสารทางราชการ การจัดการในคลังสินค้า การขนส่งสินค้า พาเลต บัตรผ่านทาง เทคโนโลยีบ่งชี้ด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (Radio Frequency Identification: RFID) หรือเรียกสั้น ๆ ว่าเทคโนโลยี RFID เนื่องจากลักษณะการส่งผ่านกำลังงานและข้อมูลระหว่างบัตรและเครื่องอ่านจะอยู่บนพื้นฐานของคลื่นความถี่วิทยุ ตารางที่ 1 แสงการเปรียบเทียบข้อแตกต่างของเทคโนโลยีบ่งชี้อัตโนมัติแบบต่าง ๆ ซึ่งจะพบว่าเทคโนโลยี RFID ค่อนข้างมีข้อได้เปรียบมากกว่าเทคโนโลยีแบบอื่น ๆ

 

ตารางที่ 1 เปรียบเทียบข้อแตกต่างของเทคโนโลยีบ่งชี้อัตโนมัติแบบต่าง ๆ 

  

ข้อพิจารณา

รหัสแท่ง

โอซีอาร์

เสียงพูด

ลายพิมพ์นิ้วมือ

สมาร์ทการ์ด

อาร์เอฟไอดี

จำนวนข้อมูลที่สามารถจัดเก็บได้ (ไบต์)

1-100

1-100

-

-

16-64 k

16.64 k

ความหนาแน่นของข้อมูลที่บันทึกต่อพื้นที่

ต่ำ

ต่ำ

สูง

สูง

สูงมาก

สูงมาก

เครื่องอ่าน

เที่ยงตรง

เที่ยงตรง

แพง

แพง

เที่ยงตรง

เที่ยงตรง

มนุษย์อ่านรหัสได้หรือไม่

ได้จำกัด

อ่านได้ง่ายมาก

ง่าย

ยากมาก

ไม่มีทางทำได้

ไม่มีทางทำได้

ผลกระทบจากคราบหรือความสกปรก

มีผลต่อการอ่านมาก

มีผลต่อการอ่านมาก

-

-

อาจมีผลหากเลอะบนหน้าสัมผัส

ไม่มีผล

ผลกระทบจากการอ่านผิดด้านหรือผิดมุม

มีบ้างเล็กน้อย

มีบ้างเล็กน้อย

-

-

ต้องวางให้ถูกทิศทางตามขั้วของหน้าสัมผัส

ไม่มีผล

อายุการใช้งาน การฉีกขาด หรือเสื่อมสภาพ

จำกัดอายุการใช้งาน

จำกัดอายุการใช้งาน

-

-

ขึ้นกับสภาพของหน้าสัมผัส

ไม่มีผล

มูลค่าของเครื่องอ่าน

ต่ำ ≈

ปานกลาง

สูงมาก

สูงมาก

ต่ำ

ปานกลาง

ความเร็วในการอ่านข้อมูล

ช้า

(≈ 4 วินาที)

ช้า

(≈ 4 วินาที)

ช้ามาก

(≈5 วินาที)

ช้ามาก

(≈5-10 วินาที)

ช้า

(≈4 วินาที)

เร็วมาก

(≈0.5 วินาที)

ระยะห่างสูงสุดระหว่างเครื่องอ่านกับบัตร/เครื่องลูกข่าย/ตัวเก็บข้อมูล

0-50 ซม.

น้อยกว่า 1 ซม.

(เป็นการสแกน)

0-50 ซม.

ต้องสัมผัสโดยตรง

ต้องสัมผัสโดยตรง

0-5 เมตร โดยใช้คลื่นความถี่วิทยุย่านไมโครเวฟ

 

 

               ซึ่งในปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยี RFID มาประยุกต์ใช้ในการลงเวลาและระบบควบคุมการผ่านเข้าออกประตู ทำให้ระบบมีความโดดเด่นในหลายประการ เช่น สะดวก และรวดเร็ว ในการปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นประโยชน์มากสำหรับองค์กรที่พนักงานที่มีการเข้าออกในเวลาพร้อม ๆ กันจำนวนมาก เช่น โรงงานอุตสาหกรรม หรือโรงเรียน เป็นต้น นอกจากนี้หากมีการกำหนดตำแหน่งของข้อมูลในหน่วยความจำของบัตร RFID ที่เหมาะสม ก็สามารถทำให้ระบบมีความรวดเร็วมากขึ้นได้อีก และสุวาริน พรรคเจริญ (2550) ก็ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีบ่งชี้วัตถุด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (RFID) มาประยุกต์ใช้ในการระบุตำแหน่งรถยนต์ในลานจอดระหว่างที่มีการดำเนินการเกี่ยวกับการซ่อมและรอประกอบชิ้นส่วนให้สมบูรณ์ ผลของการศึกษาแสดงให้เห็นถึงระยะเวลาในการค้นหารถยนต์ลดลงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ระยะทางในการเดินลดลง 43 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผลตอบแทนการลงทุนนั้นสามารถคืนทุนได้ภายในระยะเวลา 1 ปี 2 เดือน

 

               EDI (Electronic Data Interchange) เป็นการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการรับ-ส่งเอกสารธุรกิจระหว่างหน่วยงานตั้งแต่ 2 หน่วยงานขึ้นไป ที่มีมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับร่วมกัน โดยผ่านเครือข่ายสื่อสาร เช่น สายโทรศัพท์ สัญญาณดาวเทียม หรืออีกนัยหนึ่ง คือ การใช้สื่อหรือรูปแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือเอกสารธุรกิจ เช่น ใบสั่งซื้อสินค้า บัญชีราคาสินค้า ใบส่งของ รายงาน ภายใต้มาตรฐานที่กำหนดไว้ ซึ่งการรับ-ส่งเอกสารข้อมูลดังกล่าวจะถูกกระทำภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยระดับหนึ่ง เพื่อป้องกันมิให้คู่แข่งขันทางการค้าสามารถดึงข้อมูลของตนเองไปใช้ได้ ซึ่งหากมีการใช้ EDI ในกิจกรรมต่าง ๆ อย่างครบวงจรแล้ว จะช่วยให้ไม่ต้องอาศัยเอกสารต้นฉบับที่ต้องตรวจสอบโดยพนังงานหรือป้อนข้อมูลซ้ำซากอีก ซึ่งสามารถสนับสนุนให้องค์กร ธุรกิจเปลี่ยนแปลง เป็นขั้นตอนของการทำธุรกิจที่ต้องใช้เอกสารเป็นพื้นฐาน ไปสู่การทำธุรกิจภายใต้สื่อทางอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่จำเป็นต้องใช้กระดาษอีกต่อไป ในการทำงานตามขั้นตอนของระบบ EDI นี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบคอมพิวเตอร์ขององค์กรต่าง ๆ จะต้องมีส่วนการสื่อสารเป็นระบบเปิด คือ เป็นระบบซึ่งใช้ฮาร์ดแวร์ (Hardware) และซอฟต์แวร์ (Software) ที่ไม่ปิดกั้นการติดต่อจากโลกภายนอก โดยการใช้มาตรฐานที่เป็นสากล เช่น UN/EDIFACT, IEEE, ACM และ ISO ซึ่งได้กำหนดและวางกฎเกณฑ์ของการส่งผ่าน หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้คอมพิวเตอร์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถติดต่อ และรับ-ส่งข้อมูลกันได้โดยไม่จำกัดยี่ห้อของอุปกรณ์

 

               ประโยชน์ที่องค์กร ธุรกิจจะได้รับจากการประยุกต์ใช้ระบบ EDI 

 

                เนื่องจากในปัจจุบันองค์กร ธุรกิจได้มีการนำระบบ EDI มาใช้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นระบบที่สามารถให้ประโยชน์สูงในการแข่งขันทางธุรกิจ โดยมีประโยชน์ที่สำคัญดังต่อไปนี้คือ

 

  1. ลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดการเอกสารโดย EDIทำให้ธุรกิจสามารถลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดการเอกสาร ซึ่งเกิดขึ้นในระบบการค้าแบบเดิมที่ทำการติดต่อกันด้วยเอกสารได้ อาทิเช่น
  • ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการจัดทำเอกสารโดยตรง เช่น ค่าใช้จ่ายสำหรับเอกสารและพนักงานในกระบวนการรับเอกสาร การจับคู่เอกสาร การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลในเอกสาร การคัดลอกเอกสาร การประมวลผล การออกเอกสารต่อเนื่อง การจัดเก็บเอกสาร และการส่งเอกสารไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกองค์กร
  • ค่าใช้จ่ายสำหรับความผิดพาดที่เกิดขึ้นในระบบเอกสาร เช่น ค่าใช้จ่ายอันเนื่องมาจากการสูญหายของเอกสารระหว่างการเดินทาง และความผิดพลาดในการบันทึกข้อมูลจากเอกสารต้นฉบับ
  • ค่าใช้จ่ายสำหรับเวลาที่ใช้ในกระบวนการส่งข้อมูลด้วยเอกสาร เช่น เวลาที่ต้องรอในแต่ละขั้นของการทำงานในขบวนการจัดการเอกสาร และเวลาที่ใช้ในการส่งเอกสารระหว่างองค์กร
  1. เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทางธุรกิจ อันเกิดจากความถูกต้องของข้อมูลจากการใช้EDI รวมทั้งวงจรธุรกิจที่สั้นลง สำหรับทุกขบวนการทางธุรกิจตั้งแต่การซื้อ การขาย จนกระทั่งถึงการรับเงินและการจ่ายเงิน ซึ่งจะทำให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทางธุรกิจในส่วนต่าง ๆ ที่สำคัญคือ
  • ลดจำนวนสินค้าคงคลัง เนื่องจากทางผู้บริหารองค์กร ธุรกิจทราบถึงความต้องการที่แท้จริงของคู่ค้า ลูกค้า
  • กระชับความสัมพันธ์ระหว่างคู่ค้าทางธุรกิจและสนับสนุนการใช้ระบบJUST IN TIME ในการดำเนินกระบวนการทางธุรกิจ
  • พัฒนาบริการลูกค้าตามข้อมูลหรือความต้องการของลูกค้า ที่ส่งข้อมูลมายังองค์กรธุรกิจโดยใช้ระบบ EDI
  • พัฒนาการใช้เงินทุนหมุนเวียน เนื่องจากองค์กรธุรกิจเห็นกระแสเงินสดสุทธิ ทั้งที่เป็นรายรับและรายจ่าย
  • พัฒนาระบบข้อมูลเพื่อการบริหารและเพิ่มประโยชน์จากการใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน
  1. เป็นเครื่องมือสนับสนุนในการบรรลุถึงเป้าหมายองค์กร โดยประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นในกระบวนการทางธุรกิจ จากการใช้EDI สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนให้เกิดผลตามเป้าหมายขององค์กรที่วางไว้ได้ เช่น การสร้างพันธมิตรทางการค้าใหม่ ๆ การเข้าสู่ตลาดใหม่ การออกผลิตภัณฑ์/บริการใหม่ การเป็นผู้นำในตลาด และความอยู่รอดขององค์กร

 

               นอกจากนี้หากเปรียบเทียบกับองค์กรที่เป็นเหมือนตัวเชื่อมเพื่อการส่งออกและนำเข้าอย่างกรมศุลกากรแล้ว ประโยชน์ที่ได้รับจากการนำระบบ EDI มาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติพิธีการศุลกากร ที่สำคัญมีดังต่อไปนี้คือ

 

  • ช่วยลดระยะเวลาในการเดินพิธีการศุลกากร เช่น ไม่ต้องผ่านขั้นตอนการออกเลขที่ใบขนสินค้า หรือเลขที่ยกเว้นอากร เพราะเครื่องคอมพิวเตอร์จะออกเลขที่ใบขนสินค้า หรือเลขที่ยกเว้นอากรให้
  • ช่วยลดความผิดพลาดในการคำนวณค่าภาษีอากร เพราะโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ตรวจสอบการคำนวณแล้ว
  • กรณีใบขนสินค้าขาเข้า เจ้าหน้าที่ไม่ต้องบันทึกข้อมูลใบขนสินค้าทั้งฉบับ จะบันทึกข้อมูลบางไฟล์เท่านั้น เพราะใบขนสินค้าได้ถูกส่งมายังกรมศุลกากรในระบบEDI แล้ว
  • กรณีใบขนสินค้าขาออก จะลดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบลง
  • มีระบบข้อมูลที่Update ตลอดเวลา
  • ลดต้นทุนในการบริหารระบบคงคลังสินค้า
  • กรมศุลกากรสามารถให้บริการระบบEDI ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
  • ระบบEDI จะมีบริการให้ผู้ส่งออกสอบถามข้อมูลจากเครื่องคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากรได้อัตโนมัติ เพื่อตรวจเช็คสินค้าที่นำเข้า และส่งออกว่าได้รับอนุมัติหรือยัง

 

                ซึ่งสามารถแสดงการเปรียบเทียบข้อแตกต่างระหว่างพิธีการแบบ Manual กับแบบ EDI ของกรมศุลกากร ดังในตารางที่ 2 ข้างล่างนี้

 

ตารางที่ 2 แสดงการเปรียบเทียบข้อแตกต่างระหว่างพิธีการแบบ Manual (ดั้งเดิม) กับแบบ EDI ของกรมศุลกากร

 

พิธีการแบบ Manual

พิธีการแบบ EDI

ตัวแทนออกของรับข้อมูล Invoice และเอกสารประกอบอื่น ๆ จากผู้นำเข้า/ส่งออกเพื่อจัดทำใบขนสินค้า

ตัวแทนออกของรับข้อมูล Invoice และเอกสารประกอบอื่น ๆ จากผู้นำเข้า/ส่งออกเพื่อจัดทำใบขนสินค้า โดยป้อนข้อมูลลงในคอมพิวเตอร์ของตนเอง หรือใช้บริการ Service Counter

ยื่นใบขนสินค้าต่อเจ้าหน้าที่พิธีการ ตรวจสอบบัตรตัวอย่าง ลายมือชื่อเจ้าของหรือผู้จัดการหรือผู้รับมอบอำนาจ ออกเลขที่ใบขนสินค้าตรวจสอบเอกสาร และลงนามรับรอง

ส่งข้อมูลผ่านสายโทรศัพท์ไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากร โดยผ่านผู้ให้บริการ EDI (VAN) คอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากรจะตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น เช่น เลขประจำตัวผู้นำเข้า/ส่งออก ชื่อเรือ เที่ยวเรือ โดยจะออกเลขที่ใบขนสินค้าให้

เจ้าหน้าที่ประเมินอากร ตรวจสอบพิกัดอัตราอากรประเมินอากร คำนวณ และสั่งการตรวจ

การตรวจสอบพิกัดอัตราและประเมินอากร กระทำโดยตัวแทนออกของ ก่อนส่งข้อมูลไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากร

นำใบขนสินค้าที่ผ่านพิธีการ และชำระอากรหรือเงินประกัน ณ ที่ทำการศุลกากร

นำใบขนสินค้าที่ผ่านพิธีการแล้ว ไปชำระอากรหรือเงินประกัน ณ ที่ทำการศุลกากร หรือชำระเงินด้วยระบบ EFT

นำใบขนสินค้าที่ผ่านพิธีการ และชำระอากรหรือเงินประกันแล้วไปที่คลังสินค้า ให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรกำหนดชื่อ เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจปล่อยสินค้า

นำใบขนสินค้าที่ผ่านพิธีการ และชำระอากรหรือเงินประกันแล้วไปที่คลังสินค้า ให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรกำหนดชื่อเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสินค้า ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์โดยอัตโนมัติ

เจ้าหน้าที่ศุลกากรทำการตรวจปล่อยสินค้าตามปกติ

เจ้าหน้าที่ศุลกากรทำการตรวจปล่อยสินค้าตามปกติ หรือส่งมอบสินค้า หรือสลักรายการรับบรรทุก กรณีผู้นำเข้า/ส่งออก เป็นระดับบัตรทอง (Gold Card)

 

 

               ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของ วิโชติ สัมพันธรัตน์ (2548) ได้ศึกษาประสิทธิภาพของการรายงานการบรรทุกขนถ่าย และการรายงานการรับมอบส่งมอบตู้สินค้าด้วยระบบการส่งเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ของ บริษัท ที ไอ พี เอส จำกัด ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าบี 4 โดยมีขั้นตอนการวิจัย ประกอบด้วยการวิเคราะห์หาสาเหตุการร้องเรียนของผู้ใช้บริการ ด้านความล่าช้าในการส่งรายงระบบเดิมที่ใช้กระดาษ ด้วยแผนผังก้างปลา ทำการเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างระบบเดิมและระบบใหม่ โดยเปรียบเทียบอัตราการไหลเวียนของการส่งรายงาน ทั้งด้านเวลา ทรัพยากร ปริมาณและความถี่ของปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงทำการประเมินระยะเวลาคุ้มทุนในการลงทุนระบบการส่งเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ในการศึกษาเปรียบเทียบปริมาณและความถี่ของปัญหานั้นได้ศึกษาโดยใช้แบบสอบถามเพื่อเก็บข้อมูลจากพนักงานฝ่ายปฏิบัติการของบริษัทผู้ใช้บริการจำนวน 36 คน และทำการประเมินผลด้วยวิธีร้อยละ ผลการศึกษาพบว่า ระบบการแลกเปลี่ยนเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ สามารถลดขั้นตอนการทำงานจากเดิมลงได้ประมาณ 85% ส่งข้อมูลรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ ประหยัดพลังงานทั้งกระดาษและกำลังพลที่ใช้ในการทำงาน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับบริษัท และสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้อง มีความคุ้มในการลงทุน โดยมีระยะเวลาคุ้มทุน 1.4 ปี

 

 

 

              การวางแผนทรัพยากรวิสาหกิจ (Enterprise Resource Planning: ERP) เป็นโปรแกรมที่รองรับข้อมูลการทำงานประจำวัน (Transaction) เช่น การขายในแต่ละครั้ง นำข้อมูลเชื่อมโยงกับรายการของฝ่ายบัญชี เพื่อบันทึกลงสมุดประจำวัน สร้างเอกสารเพื่อรอตัดสินค้าออกจากคลังสินค้า สร้างคำสั่งการผลิตในกรณีที่ไม่มีสินค้าในคลังสินค้า สร้างคำสั่งซื้อวัตถุดิบในกรณีที่ไม่มีวัตถุดิบในคลังสินค้า ทั้งนี้เอกสารจะเชื่อมโยงโดยการตั้งค่าการทำงานต่าง ๆ เช่น ผังบัญชี การเชื่อมโยงบัญชีการลูกค้า สูตรการผลิต ระยะเวลาที่ใช้ในการผลิต ดังนั้นการวางแผนทรัพยากรวิสาหกิจจึงเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการจัดการและวางแผนการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ขององค์กรวิสาหกิจ โดยเป็นระบบที่เชื่อมโยงระบบงานต่าง  ๆ ขององค์กรวิสาหกิจเข้าด้วยกัน ตั้งแต่ระบบงานทางด้านการจัดซื้อ-จัดจ้าง การผลิต การเงินและการบัญชี การบริหารทรัพยากรบุคคล การบริหารสินค้าคงคลัง ตลอดจนระบบการขนส่งและกระจายสินค้า เพื่อช่วยให้การวางแผนและบริหารทรัพยากรขององค์กรวิสาหกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังช่วยลดเวลาและขั้นตอนการทำงานขององค์กรวิสาหกิจลง และเป็นระบบที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทุกขนาดในปัจจุบัน แต่เนื่องจากในปัจจุบันซอฟต์แวร์ ERP สำเร็จรูป (ERP Package) ยังมีราคาที่ค่อนข้างสูง ประกอบกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีข้อจำกัดในด้านเงินลงทุน และเนื่องจากได้มีการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้เป็นรหัสเปิดมากยิ่งขึ้นกว่าในอดีต ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จะต้องมีการประยุกต์ใช้ ERP ที่เป็นแบบซอฟต์แวร์รหัสเปิด (Opens Source Software: OSS)

 

               ข้อดีของซอฟต์แวร์รหัสเปิด (Open Source Software: OSS) ที่สำคัญมีดังต่อไปนี้คือ

 

  1. ผู้ใช้งานสามารถลดค่าใช้จ่าย เนื่องจากผู้ใช้งานไม่ต้องลงทุนจัดซื้อผลิตภัณฑ์ แต่จะลงทุนจ่ายเฉพาะค่าฝึกอบรม ค่าสนับสนุน และในส่วนของผู้ขายโซลูชั่นพบว่าขายง่ายขึ้นแต่ส่วนต่าง (กำไร) เท่าเดิม
  2. ส่งเสริมการเรียนรู้ กล่าวคือ สามารถเรียนรู้เทคนิคการเขียนโปรแกรมจากรหัสต้นฉบับ (Source Code) ทำให้ติดตามเทคโนโลยีการพัฒนาเป็นระยะ และค้นหาแนวทางในการพัฒนาต่อยอด
  3. ลดการละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากผู้ใช้มีสิทธิใช้งาน แจกจ่าย แก้ไข และขายได้อย่างอิสระ
  4. ช่วยให้กลุ่มอุตสาหกรรมแต่ละประเภท สามารถนำซอฟต์แวร์ ERP ไปทำให้เหมาะสม (Customize) โดยการแก้ไข ปรับปรุง หรือจ้างพัฒนาโปรแกรมได้เอง ตามความต้องการเพื่อให้เข้ากับระบบการทำงานในแต่ละประเภทอุตสาหกรรม
  5. Open Design คือมีอิสระทางด้าน Hardware เพราะสามารถใช้งานได้กับเครื่องฮาร์ดแวร์หลายประเภท และมีอิสระทางด้าน Software เพราะสามารถใช้งานร่วมกับระบบซอฟต์แวร์ตัวอื่น ๆ ได้
  6. ทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างผู้พัฒนาและการเติบโตของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เนื่องจากผู้พัฒนาโปรแกรมสามารถแลกเปลี่ยนความรู้ ในการแก้ไขจุดบกพร่อง และพัฒนาโปรแกรม เป็นการลดภาวะการผูกขาดส่งผลให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เจริญเติบโต

 

                ข้อจำกัดของซอฟต์แวร์รหัสเปิด (Open Source Software (OSS)) ที่สำคัญมีดังต่อไปนี้คือ

 

  1. โปรแกรมหลายชนิดยังมีคุณภาพไม่ดีเท่า Proprietary แต่โปรแกรมบางชนิดก็มีคุณภาพมากกว่า Proprietary
  2. ต้องเรียนรู้การใช้งานโปรแกรมใหม่ เนื่องจากเป็นซอฟต์แวร์รหัสเปิดที่อนุญาตให้แก้ไขรหัสต้นฉบับได้อย่างเสรี จึงต้องเรียนรู้การใช้งานโปรแกรมเพื่อทำให้เหมาะสม (Customize) กับรูปแบบการดำเนินกระบวนการทางธุรกิจของวิสาหกิจ
  3. เอกสารและผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาโปรแกรมรหัสเปิดยังมีจำนวนจำกัด เพราะเป็นการรวมกลุ่มกันของบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถในการพัฒนาโปรแกรม

 

                สนั่น เถาชารี (2552) ได้ปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดการกระบวนการทางธุรกิจของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมโดยใช้ระบบ ERP ของโรงงานผลิตขนมปังและเบเกอรี่ โดยโปรแกรมที่จะประยุกต์ใช้กับบริษัทเป็น Open Source ชื่อ Tiny ERP ที่ครอบคลุมการทำงาน 4 แผนกหลัก ซึ่งผลจากการประยุกต์ใช้พบว่า ดัชนีวัดประสิทธิภาพการจัดการกระบวนการทางธุรกิจในแผนกขาย คือ อัตรารับคืนสินค้าจากลูกค้ามีค่าไม่ลดลง เนื่องจากพนักงานขายยังคงยึดติดอยู่กับคำสั่งซื้อจากลูกค้าในปัจจุบัน และประมาณการเบิกโดยใช้ประสบการณ์เป็นหลัก ดัชนีวัดประสิทธิภาพการจัดการกระบวนการทางธุรกิจในแผนกผลิตคือ Production Order Fulfillment Lead Time ลดลง 1.23 ชั่วโมง เนื่องจากโปรแกรม Tiny ERP จะรายงานเวลาที่จำเป็นต้องใช้ในแต่ละสถานีงาน ทำให้หัวหน้าแผนกผลิตสามารถวางแผน จัดสรรกำลังคน และจำนวนเครื่องจักรที่ต้องใช้ต่อสถานีงานได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนสามารถจัดลำดับการผลิตเพื่อไม่ให้เกิดคอขวด (Bottleneck) และเวลาสูญเปล่า (Idle Time) ในกระบวนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดัชนีวัดประสิทธิภาพการจัดการกระบวนการทางธุรกิจในแผนกจัดซื้อ คือ อัตราความรวดเร็วในการจัดซื้อมีค่าไม่ลดลง เนื่องจากหัวหน้าแผนกจัดซื้อใช้ประสบการณ์ในการออกคำสั่งซื้อเป็นหลัก กล่าวคือ จะออกคำสั่งซื้อเมื่อคาดว่าวัตถุดิบมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ผลิตในอนาคต โดยอาศัยข้อมูลจำนวนวัตถุดิบคงเหลือ ดัชนีวัดประสิทธิภาพการจัดการกระบวนการทางธุรกิจในแผนกคลังสินค้า คือ อัตราสินค้าคงเหลือมีค่าไม่ลดลง เนื่องจากโรงงานมีนโยบายที่จะต้องสำรองสินค้าไว้ในปริมาณหนึ่ง เพื่อรองรับกับคำสั่งซื้อของลูกค้าที่มาสั่งซื้อสินค้าภายในโรงงาน ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ต้นทุนจะพบว่า ต้นทุนแรงงานทางตรงลดลง 27,720 บาท/เดือน ต้นทุนแรงงานทางอ้อมลดลง 14,430 บาท/เดือน และต้นทุนโสหุ้ยการผลิตอื่น ๆ ลดลง 42,722 บาท/เดือน คิดเป็นค่าใช้จ่ายเนื่องจากความล่าช้า และความผิดพลาดที่ลดลงต่อยอดขาย 3.56% เป็นเงินจำนวน 84,872 บาท/เดือน หรือ 1,018,464 บาท/ปี แต่ต้องลงทุนเป็นค่าใช้จ่ายครั้งเดียว เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการได้มาของระบบเป็นเงินจำนวน 3,270,084 บาท ลงทุนเป็นค่าใช้จ่ายรายปี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลระบบสารสนเทศเป็นเงินจำนวน 520,150 บาท/ปี และจากการเปรียบเทียบผลเชิงเศรษฐศาสตร์พบว่า การติดตั้งประยุกต์ใช้ Open Source Tiny ERP ที่มีระยะเวลาของโครงการ 10 ปี จะมีระยะเวลาคืนทุน (PB) ประมาณ 6.56 ปี และมีผลตอบแทนของโครงการ (IRR) เท่ากับ 8.40%

 

               ระบบการจัดการคลังสินค้า (Warehouse Management System: WMS) ปัจจุบันการบริหารคลังสินค้าจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีในการปฏิบัติงาน เนื่องจากงานมีปริมาณและความซับซ้อนที่มากขึ้น โดยได้มีการพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมาเรียกว่า ระบบการจัดการคลังสินค้า (Warehouse Management System: WMS) ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยให้การปฏิบัติงานภายในคลังสินค้าและการบริหารสต็อกให้เป็นโดยอัตโนมัติมีความถูกต้อง รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น สามารถดำเนินการผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยงานที่ใช้กระดาษ (Paperless) ระบบการจัดการคลังสินค้า มีความสามารถที่จะช่วยแก้ไขปัญหาโลจิสติกส์ ดังต่อไปนี้คือ

 

  1. การรับสินค้า (Receiving) ระบบสามารถจองพื้นที่ว่างหรือจองพื้นที่ไว้ล่วงหน้า เพื่อช่วยในการวางแผนการจัดวางในคลัง สินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ การรับสินค้าโดยไม่มีการวางแผนการจัดเก็บ จะมีผลทำให้ต้นทุนของกิจการมากขึ้น เพราะต้องเสียเวลาในการค้นหาสินค้านั้น ๆ
  2. การจัดเก็บ (Put Away) ระบบสามารถแนะนำตำแหน่งที่เหมาะสมในการจัดเก็บ และมีการยืนยันตำแหน่งที่จัดเก็บได้ อย่างถูกต้อง โปรแกรม WMS ในส่วนของการจัดเก็บ สามารถทำงานร่วมกับ ERP และบาร์โค้ดสแกนเนอร์ เพื่อทำให้ทราบตำแหน่งที่แม่นยำและชัดเจน
  3. การหยิบสินค้า (Picking) ระบบจะช่วยหาตำแหน่งของสินค้าที่มีการจัดเก็บไว้ได้อย่างง่าย ทำให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถหยิบ สินค้าได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว

 

               ระบบการจัดการการขนส่ง (Transportation Management System: TMS) ปัจจุบันระบบการจัดการการขนส่งนิยมใช้ซอฟต์แวร์ที่พัฒนา โดยมีการใช้งานผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต อินทราเน็ต และเอ็กซ์ทราเน็ต ซึ่งซอฟต์แวร์TMS มีระบบย่อยที่สำคัญประกอบด้วย

 

  1. การจัดการขนส่ง มีงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การวางแผนบรรทุก การเลือกวิธีการขนส่ง การจัดซื้อในงานขนส่ง การจัดการ เส้นทางการขนส่ง การควบคุมการขนส่ง การติดตามการจัดส่ง การจัดทำรายงานและปรับตามความต้องการของลูกค้า
  2. การจัดการยานพาหนะ มีงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การบริหารยานพาหนะ การจัดการเช่ายานพาหนะ การจัดการน้ำมัน เชื้อเพลิง การจัดการอุบัติเหตุ การจัดการบุคคล การซ่อมบำรุงภายใน การจัดการอะไหล่และการจัดการเรียกเก็บเงิน
  3. การจัดการผู้รับขน มีงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การวางแผนขนส่ง/เวลาในการบรรทุก การจัดตารางการขนส่ง การสรรหา พนักงานขับรถ การกำหนดชั่วโมงพนักงานขับรถ การบำรุงรักษายานยนต์และการสนับสนุนการขนส่งสินค้าขากลับ
  4. การออกแบบเครือข่ายมีงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การเลือกทำเลที่ตั้ง การกระจายสินค้าในระดับดีที่สุด การวางแผนกำลังการ ผลิต การให้บริการคลังสินค้าแต่ละพื้นที่ให้ดีที่สุดและการประเมินผลกลยุทธ์โลจิสติกส์

 

บทสรุป

                เนื่องจากในปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทที่สำคัญ ในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ประกอบการ ในการบริหารงานขององค์กรธุรกิจ ส่งผลให้ความสามารถในการสื่อสาร ควบคุม ตลอดจนการประมวลผลเพื่อตัดสินใจเป็นไปอย่างถูกต้อง รวดเร็ว ซึ่งเทคโนโลยีที่นิยมนำมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการโลจิสติกส์ภายในองค์กรธุรกิจให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพที่สำคัญคือ เทคโนโลยีทางโลจิสติกส์ ซึ่งประกอบด้วย GPS (Global Positioning System) เป็นระบบที่ใช้ในการบอกตำแหน่งของสิ่งต่าง ๆ บนโลกนี้ โดยระบบ GPS จะใช้เทคโนโลยีของดาวเทียมที่จะเป็นเครื่องมือในการพิจารณาหาจุดพิกัดบนโลกนี้ โดยใช้พิกัดตัวเลขของละติจูดและลองติจูด ทำให้ทราบถึงตำแหน่งที่แท้จริงของสิ่งนั้น ๆ ถูกนำมาใช้ในเชิงการค้าในการติดตาม ตรวจสอบการเดินทางขนส่งสินค้าของรถบรรทุกสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ Barcode เป็นเทคโนโลยีในการตรวจสอบสินค้าขณะขาย การตรวจสอบยอดการขาย การตรวจสอบยอดขาย และสินค้าคงคลัง RFID (Radio Frequency Identification) เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการระบุสิ่งต่าง ๆ แบบไม่ต้องสัมผัสโดยใช้คลื่นความถี่วิทยุ EDI (Electronic Data Interchange) เป็นการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการรับ-ส่งเอกสารธุรกิจระหว่างหน่วยงานตั้งแต่ 2 หน่วยงานขึ้นไป ที่มีมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับร่วมกัน โดยผ่านเครือข่ายสื่อสาร การวางแผนทรัพยากรวิสาหกิจ (Enterprise Resource Planning: ERP) เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการจัดการและวางแผนการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ขององค์กรวิสาหกิจ โดยเป็นระบบที่เชื่อมโยงระบบงานต่าง ๆ ขององค์กรวิสาหกิจเข้าด้วยกัน ระบบการจัดการคลังสินค้า (Warehouse Management System: WMS) เป็นซอฟต์แวร์เพื่อช่วยให้การปฏิบัติงานภายในคลังสินค้าและการบริหารสต็อกให้เป็นโดยอัตโนมัติมีความถูกต้อง รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น และระบบการจัดการการขนส่ง (Transportation Management System: TMS) ซอฟต์แวร์ เพื่อช่วยในการจัดการขนส่ง จัดการยานพาหนะ จัดการผู้รับขน และออกแบบเครือข่าย ซึ่งจะทำให้องค์กร ธุรกิจที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโลจิสติกส์ มีประสิทธิภาพในการจัดการโลจิสติกส์ มีศักยภาพในการแข่งขันในกระแสโลกาภิวัฒน์ได้เป็นอย่างดียิ่ง

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. http://www.bu.ac.th/knowledgecenter/executive_journal/oct_dec_11/pdf/aw02.pdf
  2. http://www.logisticscorner.com/index.php?option=com_content&view=article&id=1785:-gps-gps&catid=45:any-talk&Itemid=56
  3. http://riverplusblog.com/2011/06/07/barcode-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3/
  4. http://www.barcode-produce.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539352178
  5. http://www.ecti-thailand.org/emagazine/views/60
  6. http://logisticsrmuttochan.blogspot.com/2011/08/edi.html
  7. https://www.blogger.com/profile/15310147878392969862
  8. https://www.youtube.com/results?search_query
  9. http://www.tpa.or.th/writer/author_des.php?passTo=62e910fa5312fa86d74d4f9a500c4a5a&authorID=1766
  10. สนั่น เถาชารี. การปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดการกระบวนการทางธุรกิจของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมโดยใช้ระบบ ERP : กรณีศึกษาโรงงานผลิตขนมปังและเบเกอรี่. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต : มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2552.
  11. เศรษฐศักดิ์ เลิศประเสริฐเวช. ระบบ GPS ที่มีผลต่อประสิทธิภาพการจัดการในธุรกิจขนส่ง. การค้นคว้าอิสระวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต : วิทยาลัยนวัตกรรมอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548.
  12. สรไกร ปัญญาสาครชัย. ผลสำเร็จในการนำเทคโนโลยี GPS มาประยุกต์ใช้ในการเพิ่มคุณภาพการบริการขนส่งสินค้าและบริการทางถนน. การค้นคว้าอิสระวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารเทคโนโลยี : วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2552
  13. วิโชติ สัมพันธรัตน์. ประสิทธิภาพของการรายงานการบรรทุกขนถ่าย และการรายงานการรับมอบส่งมอบตู้สินค้าด้วยระบบการส่งเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ของ บริษัท ที ไอ พี เอส จำกัด ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าบี 4. งานนิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการขนส่งและโลจิสติกส์: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา, 2548.
  14. สุมาลี บัวขาว. การใช้รหัสแท่งในการบริหารสินค้าคงคลังของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม. การศึกษาค้นคว้าอิสระปริญญาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2548.
  15. สุวาริน พรรคเจริญ. การศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีบ่งชี้วัตถุด้วยคลื่นความถี่วิทยุ มาใช้ในการบริหารรถยนต์ภายในลานจอด. งานนิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการขนส่งและโลจิสติกส์: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา, 2550.

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด